สมาพันธ์เกษตรปลอดภัย และสมาคมเกษตรปลอดภัย ผู้แทนเกษตรกร 30,000 ราย ยื่นหนังสือขอบคุณ นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และกรมวิชาการเกษตร ในการพิจารณาอย่างรอบคอบ ที่มีมติไม่ยกเลิกใช้สารพาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพรีฟอส พร้อมนำเสนอ มาตรการจำกัดการใช้ฉบับเกษตรกร เพื่อนำเสนอไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และนำไปปรับใช้อย่างเป็นรูปธรรมได้จริงในประเทศไทย
นายสัญญา ปานสวี รักษาการเลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย เปิดเผยว่า “เมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา กลุ่มเกษตรกรได้รวบรวมรายชื่อกว่า 30,000 ราย นำเสนอรายชื่อคัดค้านการยกเลิกใช้สารเคมีทั้งสามชนิดไปยัง พลเอกประสาท สุขเกษตร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เพื่อนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นั้น กลุ่มเกษตรกรดังกล่าว จึงได้จัดทำหนังสือขอบคุณผ่านสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย ถึง นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา สำหรับการพิจารณาอย่างรอบด้าน บนพื้นฐานข้อเท็จจริงของคณะกรรมการวัตถุอันตราย จนมีมติ ไม่ยกเลิกใช้สารพาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพรีฟอส สอดคล้องกับประสบการณ์จริงของเกษตรที่ไม่เคยประสบปัญหาด้านสุขภาพตามข้อกล่าวอ้างต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น”
นอกจากนี้ สมาพันธ์เกษตรปลอดภัย ร่วมกับ สมาคมเกษตรปลอดภัย และกลุ่มเกษตรกรกว่า 30,000 ราย ได้รวบรวมแนวคิด แนวทางปฏิบัติ ยึดหลักตามความเป็นจริงที่สามารถปฏิบัติได้ และจัดทำเป็นบทสรุปมาตรการจำกัดการใช้สารพาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพรีฟอส ฉบับเกษตรกรขึ้น ทั้งนี้ อาจส่งผลกระทบบ้างในระยะแรก เกษตรกรก็พร้อมปรับตัว แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา ประชาชน เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในระยะยาว และการทำเกษตรปลอดภัยอย่างจริงจัง
นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ นายกสมาคมเกษตรปลอดภัย เกษตรกรดีเด่นสาขาทำไร่ ทำนา และไร่นาสวนผสม กล่าวว่า “ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา การดำเนินงานของสมาพันธ์ฯ ได้ดำเนินกิจกรรมอย่างจริงจังในหลายด้าน ทั้งการพัฒนาความรู้ให้แก่เกษตรกรผ่านการอบรมการฉีดพ่นสารเคมี การป้องกันตนเองและสิ่งแวดล้อมจากการฉีดพ่นสารเคมี ไปจนถึงการปลูกฝังความคิด สร้างทัศนคติที่ดีต่ออาชีพเกษตรกรแก่กลุ่มคนรุ่นใหม่ ค่ายธรรม(ชาติ)เกษตร เพื่อสร้างเกษตรกรที่มีคุณภาพในอนาคต”
สำหรับมาตรการจำกัดการใช้ฉบับเกษตรกร นายสุกรรณ์ กล่าวสรุปเป็น 6 มาตรการหลัก ว่า การแบนไม่ใช่คำตอบ แต่การใช้ที่ถูกต้องคือสาระสำคัญ โดยจะต้องมีมาตรการควบคุมและดูแลใน 6 กลุ่มผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้แก่ 1) ร้านค้าเคมี จะต้องออกกฎบังคับให้มีการอบรมอย่างเข้มข้นไม่ใช่สองวันจบ ร้านค้าต้องเสียสละเวลามาอบรมในแต่ละเรื่อง และภาครัฐจะต้องประเมินผลสม่ำเสมอ บังคับให้มีนักวิชาการเกษตรประจำร้าน เหมือนเภสัชกร 2) บริษัทเคมีเกษตร ออกกฎบังคับให้จัดอบรมเกษตรกร และจัดทำรายงานให้แก่ภาครัฐ หากเอกชนรายใดปฏิบัติไม่ได้ ไม่มีความรับผิดชอบ ก็ไม่ควรให้มีการทำธุรกิจ ประเภทมีแต่ขายไม่มีทีมงานวิชาการก็ไม่ควรมีอีกต่อไป 3) ผู้ซื้อ จำกัดเฉพาะผู้ถือบัตรเกษตรกรเท่านั้น ควบคู่ไปกับร้านค้าจัดทำบันทึกการซื้อขาย เพื่อการตรวจสอบในอนาคต 4) ภาครัฐ ถ่ายทอดความรู้ด้านการวินิจฉัยศัตรูพืช รวมทั้งการฉีดพ่นอย่างต่อเนื่อง และระบุข้อความในฉลากให้ครบ โดยเฉพาะคำเตือนต่าง ๆ ต้องทำการประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรรู้ผ่านรายการโทรทัศน์ทุกวัน 5) ผู้รับจ้างฉีดพ่น ออกกฎบังคับให้มีการขึ้นทะเบียน ผู้รับจ้างฉีดพ่นจะต้องผ่านการอบรมและทดสอบ รวมทั้งมีการวัดระดับความรู้ผ่านศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก) 6) เกษตรกรทุกราย จะต้องเข้าสู่ระบบกระบวนการเกษตรปลอดภัย หรือ GAP ภาคบังคับ ไม่ใช่ระบบสมัครใจแบบเดิม และพัฒนาระบบบันทึกการใช้สารเคมีของเกษตรกรให้มีความเหมาะสม
ท้ายที่สุด เกษตรกร 5 ล้านครอบครัว และเกษตรกรรายย่อย 17-20 ล้านคน เชื่อว่ามีความยินดีและพร้อมที่จะดำเนินการตามมาตรการจำกัดการใช้สารเคมี แต่จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมจากทุกภาคส่วน ถึงเวลาแล้วที่จะเดินไปพร้อมกับเกษตรกร และให้เกษตรกรได้เรียนรู้ถึงการเกษตรที่ดีและปลอดภัย (GAP) ดีกว่า การแบนหรือยกเลิกและปราศจากทางออกที่ยั่งยืน” นายกสมาคมเกษตรปลอดภัย กล่าวสรุป