นายกรัฐมนตรี เดินหน้าปราบคอร์รัปชั่นจริงจัง หวังไทยก้าวไกลไร้ทุจริต

นายกรัฐมนตรี เดินหน้าปราบคอร์รัปชั่นจริงจัง หวังไทยก้าวไกลไร้ทุจริต ตั้งแล้วศูนย์ปฏิบัติการ War Room เปิดสายด่วน 1206 รับข้อร้องเรียน

นายกรัฐมนตรี นางสาว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เดินหน้าพัฒนาระบบราชการไทยไร้ทุจริตคอร์รัปชั่น ตามแผนยุทธศาสตร์เชิงรุก มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐทุกภาคส่วน เร่งดำเนินการ 4 แผนงานเชิงรุก (Anti-Corruption Quick Win Program) พร้อมชูศูนย์ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น (Anti-Corruption War Room) เปิดสายด่วน (Call Center) 1206 รับข้อร้องเรียนเรื่องการทุจริต รายงานผลตรงศูนย์บัญชาการนายกรัฐมนตรี  ลงโทษข้าราชการทุจริตอย่างจริงจัง และเชิดชูอาสาต่อต้านคอร์รัปชั่น

คอร์รัปชั่น

เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 นายกรัฐมนตรี นางสาว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นประธานเปิดประชุม          เชิงปฏิบัติการ “ยุทธศาสตร์ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น” ณ ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ แจ้งวัฒนะ ภายใต้แนวคิด “ประเทศไทยก้าวไกลไร้ทุจริต” ประกาศยุทธศาสตร์และแผนงานเชิงรุกของรัฐบาลในการต่อต้าน             การทุจริตคอร์รัปชั่นว่า “การแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นในภาครัฐ ถือเป็นนโยบายสำคัญเร่งด่วนของรัฐบาล ดังที่ได้กำหนดไว้ในนโยบายรัฐบาล และเพื่อให้การดำเนินงานเกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน จึงได้เน้นย้ำใน 4 แผนงานเชิงรุกของรัฐบาล ได้แก่

1) การปลูกจิตสำนึกและสร้างความตระหนักรู้ โดยการสร้างข้าราชการไทยไร้ทุจริต การมอบรางวัลเพื่อเชิดชูเกียรติ  กำหนดบัญชีรายชื่อข้าราชการที่มีความซื่อสัตย์สุจริต หรือมีผลงานในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น และจัดทำตราสัญลักษณ์แสดงการอาสาต่อต้านคอร์รัปชั่น พร้อมทั้งจัดทำป้ายสัญลักษณ์ในการประกาศเจตนารมณ์ที่จะไม่รับสินบนหรือคอร์รัปชั่นตั้งไว้ที่จุดบริการประชาชน

2) การพัฒนาองค์กร  โดยส่งเสริมให้ส่วนราชการริเริ่มจัดทำข้อเสนอการเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างความโปร่งใสในการปฏิบัติราชการของตนเอง  พัฒนาหรือปรับปรุงกระบวนการหลักที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดการทุจริตคอร์รัปชั่น ผ่านกระบวนการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง (Action Learning) ซึ่งเป็นกระบวนการที่มุ่งเน้นให้เกิดการพัฒนาที่เกิดจากความเต็มใจ และยอมรับร่วมกันจากเจ้าหน้าที่ภายในหน่วยงาน และให้มีการจัดตั้งศูนย์หรือกลุ่มงานในหน่วยงานราชการเพื่อปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น รวมทั้งเป็นกลไกในการบูรณาการและขับเคลื่อนแผนการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างจริงจัง

3) การตรวจสอบและเฝ้าระวังเชิงรุก โดยจัดตั้งศูนย์ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น (Anti-Corruption War Room) เป็นการบูรณาการด้านการตรวจสอบ รับแจ้งเบาะแสและเรื่องร้องเรียน ป้องกัน ปราบปราม อย่างเบ็ดเสร็จครบวงจร ณ จุดเดียว (One – Stop Service) และเชื่อมโยงการรายงานทั้งหมดไปที่ศูนย์บัญชาการนายกรัฐมนตรี (PMOC) ที่จะสามารถตรวจสอบ ติดตามความก้าวหน้าได้ตลอดเวลา

4) การปราบปรามที่จริงจังและการลงโทษที่เข้มงวด โดยประกาศบทลงโทษผู้กระทำผิด ประชาสัมพันธ์ การดำเนินคดีปราบปรามทุจริตอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการมอบรางวัลเชิดชูเกียรติแก่องค์กรดีเด่น (รางวัลประจำปี)

แผนงานดังกล่าวเน้นการดำเนินงานที่หวังผลเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน โดยสร้างความตื่นตัวในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น ดำเนินการปรับปรุงและแก้ไขกฎหมาย เสริมสร้างมาตรฐานด้านคุณธรรม จริยธรรม ธรรมาภิบาลของบุคลากรภาครัฐ ตลอดจนปลูกฝังจิตสำนึกและค่านิยมของสังคมให้ยึดมั่นในความถูกต้องชอบธรรม ซึ่งจะทำให้ภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นของประเทศไทยดีขึ้น เป็นที่ยอมรับในระดับสากล

คอร์รัปชั่น

จากนั้น นายกรัฐมนตรียังได้ร่วมกันกับคณะรัฐมนตรี ประกาศเจตนารมณ์การไม่ทุจริตคอร์รัปชั่น และเปิดศูนย์ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น (Anti-Corruption War Room) ในการป้องกันและปราบปรามทุจริตแบบบูรณาการ (One – Stop Service) โดยมีช่องทางให้ประชาชนสามารถร้องเรียนผ่านสายด่วน (call center) เบอร์ 1206 รับทุกเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการทุจริตตลอด 24 ชั่วโมง ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐที่เข้าข่ายทุจริต การประพฤติมิชอบในวงราชการ  โดยเฉพาะเรื่องการซื้อขายตำแหน่งในระบบราชการ ซึ่งถือเป็นบ่อเกิดและช่องทางในการทุจริต ที่ทุกภาคส่วนต้องให้ความสำคัญในการปราบปรามเรื่องนี้ให้หมดไป โดยรัฐบาลพร้อมรับเรื่องร้องเรียนการซื้อขายตำแหน่งที่เกิดขึ้นทั้งในอดีตและปัจจุบัน  ทั้งนี้ สายด่วน 1206 จะมีเจ้าหน้าที่รับข้อมูลการร้องเรียน บันทึกข้อมูล และคำร้องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ตรวจสอบ แก้ไข ปราบปราม รวมทั้งรายงานผลความคืบหน้าการปฏิบัติการให้ทราบ ถือเป็นศูนย์ปฏิบัติการที่ครบวงจร ทั้งทางโทรศัพท์ เฟสบุ๊ค อีเมล์ เอสเอ็มเอส และจดหมาย

นอกจากนี้ในการประชุมเชิงปฏิบัติการ “ยุทธศาสตร์ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น” ได้มีการบรรยายพิเศษใน 4 หัวข้อ ได้แก่

1) การนำเสนอตัวอย่างต่างประเทศที่เป็นเลิศ (Best Practices) ในการแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น : กรณีของสาธารณรัฐสิงคโปร์ โดยอดีตผู้อำนวยการ Corrupt Practices Investigation Bureau ( CPIB ), Singapore (Mr. Chua Cher Yak)

2) แนวทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต โดย นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ

3)  แนวทางการแก้ไขปัญหาทุจริตประพฤติมิชอบในประเทศไทย โดย นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส (รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน รักษาราชการแทน ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน) และนายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่น

4) การสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อต่อต้านการทุจริตประพฤติมิชอบในวงราชการ โดย ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล (กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา)

โดยมีคณะรัฐมนตรี หัวหน้าส่วนราชการ ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บริหารการเปลี่ยนแปลงระดับกรมและจังหวัด ผู้แทนองค์กรอิสระ ผู้แทนภาคท้องถิ่น ผู้แทนภาคเอกชน ผู้แทนภาคสื่อมวลชน คณะผู้แทนทางการทูตในประเทศไทย ผู้แทนองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศ และผู้แทนหอการค้าต่างประเทศ/ในประเทศไทยเข้าร่วมประชุม

คอร์รัปชั่น

ในการนี้ ยังได้มีการมอบหมายให้ทุกหน่วยงานราชการและจังหวัดทำความสะอาดบ้านของตนเอง โดยการตรวจสอบกระบวนการทำงานภายในหน่วยงานของตนเองว่ามีกระบวนการหรือภารกิจใดที่มีความเสี่ยงต่อการทุจริตคอร์รัปชั่นสูง หลังจากนั้น 1 เดือนให้แต่ละหน่วยงานนำเสนอข้อเสนอการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาอนุมัติให้ดำเนินการ และจะมีการมอบเงินสนับสนุนการดำเนินการสำหรับข้อเสนอที่ผ่านการเห็นชอบแล้ว  ซึ่งในการนี้ ข้าราชการทุกภาคส่วนจะได้ร่วมกันพัฒนาหน่วยงานของตนเองให้สะอาดโปร่งใส ภายใต้แนวคิด “1 หน่วยงาน 1 ข้อเสนอการเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างความโปร่งใสในการปฏิบัติราชการ (Clean Initiative)”  ทำให้จะได้นวัตกรรม ในการสร้างความโปร่งใสจาก 159 ส่วนราชการ 76 จังหวัด รวมทั้งหมด 235 นวัตกรรม อันเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างแรงกระเพื่อม และขยายผลการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นต่อไปในอนาคต ซึ่งที่ปรึกษาของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.)  ได้ชี้แจงหลักการ และแนวทางการจัดทำข้อเสนอให้แก่หน่วยงานต่างๆ เพื่อให้สามารถวินิจฉัยปัญหาจากภายในองค์การ ตลอดจนให้คำปรึกษาไปจนถึงขั้นตอนการนำข้อเสนอไปสู่การปฏิบัติ โดยระหว่างดำเนินการก็จะมีการติดตามความก้าวหน้าเป็นระยะ ๆ มีการประเมินผลสำเร็จของการดำเนินการในรอบ 1 ปี

ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวจะเป็นการเริ่มต้นจากภายในหน่วยงานราชการให้สำเร็จก่อน จากนั้นจะขยายวงไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชนต่อไป

Message us