ศูนย์รับบริจาคอวัยวะ ชี้ขาดแคลนอวัยวะปลูกถ่าย เสียชีวิต 3 คนต่อสัปดาห์ และร้อยละ 92 ของผู้ป่วยรอรับการปลูกถ่ายอวัยวะ กำลังทุกข์ทรมาน ไร้ความหวัง
ศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย เผยร้อยละ 92 ของผู้ป่วยรอรับการปลูกถ่ายอวัยวะ กำลังทุกข์ทรมาน และรอคอยโอกาสอย่างไร้ความหวัง มีเพียงร้อยละ 8 ของผู้ที่รอรับการปลูกถ่ายอวัยวะเท่านั้น จะได้รับการรักษาและกลับมามีชีวิตอย่างปกติอีกครั้ง ตอกย้ำปัญหาหลัก ญาติบางส่วนปฏิเสธการบริจาคอวัยวะ และวอนแพทย์วินิจฉัยสมองตายตามหลักแพทยสภา
นายแพทย์วิศิษฏ์ ฐิตวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย กล่าวว่า ”ปัจจุบัน จำนวนผู้ป่วยรอรับอวัยวะ เฉพาะในปี 2553 มีจำนวน 2,932 คน แต่มีเพียงร้อยละ 8 หรือ 215 คนเท่านั้น ที่ได้รับการรักษาและปลูกถ่ายอวัยวะใหม่ ส่วนอีกร้อยละ 92 หรือ 2,717 คน ยังคงรอการปลูกถ่ายอวัยวะ ทุกข์ทรมานและเสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมากในการรักษาตนเอง เพื่อรอโอกาสที่จะได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะที่อาจจะมาถึง รวมทั้ง ในปีที่ผ่านมา มีผู้ป่วยที่เสียชีวิตระหว่างการรอรับบริจาคอวัยวะไปแล้วกว่า 120 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 4.5 จากผู้รอรับบริจาคอวัยวะทั้งหมด จากสถิติดังกล่าวนี้ สามารถกล่าวได้อย่างชัดเจนว่า ศูนย์รับบริจาคอวัยวะ ยังคงขาดแคลนอวัยวะอีกเป็นจำนวนมากในทางปฏิบัติ แม้ว่าปัจจุบันจะมีผู้แสดงความจำนงบริจาคอวัยวะทั้งหมด 576,871 คนก็ตาม
เนื่องจากอวัยวะที่จะนำมาปลูกถ่ายให้แก่ผู้ป่วยได้ต้องเป็นอวัยวะที่มาจากผู้ที่เสียชีวิตด้วยภาวะสมองตายเท่านั้น และผู้บริจาคส่วนใหญ่ที่ได้รับอวัยวะมานั้น ไม่ได้แสดงความจำนงบริจาคอวัยวะไว้ แต่ญาติผู้เสียชีวิตเห็นถึงประโยชน์ของการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน จึงยินยอมบริจาคอวัยวะเพื่อนำไปปลูกถ่ายให้แก่ผู้ป่วย ขณะเดียวกัน กรณีที่ผู้เสียชีวิตได้บริจาคอวัยวะไว้แล้ว ศูนย์ฯ ก็ต้องขอความยินยอมจากญาติด้วยเช่นกัน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง เพราะบางคนยังไม่เข้าใจเรื่องสมองตาย หรือเรื่องการบริจาคอวัยวะ และอาจจะมีความเชื่อเก่า ๆ อยู่อีกมาก อย่างเช่น ญาติปฏิเสธการบริจาคอวัยวะ เพราะไม่แน่ใจว่าผู้ตายต้องการบริจาคหรือไม่ บางคนก็เกรงว่าการบริจาคอวัยวะในชาตินี้จะทำให้เกิดชาติหน้ามีอวัยวะไม่ครบกลายเป็นคนพิการ หรือบางคนยังอาวรณ์สงสารร่างของผู้เสียชีวิต กลัวว่าผู้เสียชีวิตจะเจ็บ ไม่อยากให้มีบาดแผลอีก สิ่งเหล่านี้จึงนับเป็นเรื่องละเอียดอ่อนอย่างยิ่ง ดังนั้น หากผู้เสียชีวิตสมองตายได้ทำบัตรบริจาคอวัยวะไว้ และแสดงเจตนารมย์ที่ชัดเจนให้แก่ญาติครั้งที่มีชีวิตอยู่ จะทำให้ญาติปฏิบัติตามเจตนารมณ์ของเจ้าตัวได้ จะทำให้ ได้รับบริจาคอวัยวะขึ้นกว่านี้
นอกจากนี้ แพทยสภา ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการวินิจฉัยสมองตาย ฉบับใหม่ (ประกาศแพทยสภา ที่ 7/2554) ให้มีองค์คณะของแพทย์ไม่น้อยกว่า 3 คน และต้องไม่ประกอบด้วยแพทย์ผู้ทำการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะหรือแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยที่ต้องการอวัยวะ ดำเนินการวินิจัยสมองตายโดยไม่ชักช้า และให้เป็นไปตามขั้นตอนปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เพื่อดูแลอวัยวะให้สามารถนำไปปลูกถ่าย และช่วยชีวิตผู้ป่วยคนอื่นได้ต่อไป”
นายแพทย์สุกิจ ทัศนสุนทรวงศ์ ประสาทศัลยแพทย์ โรงพยาบาเลิดสิน และผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา ได้กล่าวถึงแนวทางสำหรับแพทย์ในการปฏิบัติต่อญาติผู้ป่วย ในกรณีที่จะต้องวินิจฉัยสมองตายว่า “ในฐานะแพทย์ผู้รักษา มีความจำเป็นที่จะต้องแจ้งให้กับญาติผู้ป่วยทราบถึงสถานการณ์ปัจจุบันของผู้ป่วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ป่วยรายดังกล่าวอยู่ในภาวะสมองตาย ซึ่งมีความจำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยโดยทันที อันเป็นหลักปฏิบัติแห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม และว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม เพราะเมื่อผลการวินิจฉัยแสดงว่าผู้ป่วยเสียชีวิตอันเนื่องมาจากสมองตายแล้ว แพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ และญาติผู้เสียชีวิต จะได้พิจารณาและแสวงหาหนทางในการนำอวัยวะของผู้เสียชีวิตไปช่วยเหลือชีวิตผู้ป่วยรายอื่นๆ ต่อไปได้อย่างทันท่วงที”
นางศศิพินท์ มงคลไชย ตำแหน่ง หัวหน้าหอผู้ป่วยหนักศัลยกรรม 2 โรงพยาบาลอุดรธานี ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประสานงานการปลูกถ่ายอวัยวะ ได้กล่าวถึงเหตุผลที่ทำให้ญาติตัดสินใจไม่บริจาคอวัยวะคือเป็นเรื่องของความเชื่อ กลัวว่าบริจาคอวัยวะไปแล้วชาติหน้าจะมีอวัยวะไม่ครบ ส่วนเหตุผลที่ทำให้ญาติผู้ป่วยตัดสินใจบริจาคอวัยวะนั้น จะเป็นเรื่องการให้ข้อมูลเกี่ยวกับการบริจาคอวัยวะแก่ญาติและการดูแลผู้ป่วยอย่างดีที่สุด โดยการสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับญาติผู้ป่วย เปิดโอกาสให้ญาติได้พูดคุย ระบายความรู้สึกกับเราเพื่อให้เราเป็นกำลังใจ โดยปลอบญาติด้วยสัมผัส ที่นุ่มนวล ที่สำคัญต้องให้ข้อมูลตามความเป็นจริงประสานงานญาติผู้ป่วยให้ได้คุยกับแพทย์เจ้าของไข้เพื่อทราบอาการผู้ป่วยทุกวัน
ระบายความรู้สึกกับเราเพื่อเราเป็นกำลังใจ โดย ผู้อำนวยการศูนย์รับบริจาคอวัยวะ กล่าวเสริมว่า “จำนวนผู้รออวัยวะ มีแนวโน้มที่จะเพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะปัจจุบันสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ขยายบริการทดแทนไตในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายสามารถรับบริการล้างไต หรือรับการผ่าตัดปลูกถ่ายไตภายใต้นโยบายดังกล่าวได้ รวมทั้งเมื่อเทียบค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะ กับการรักษาด้วยวิธีอื่น การปลูกถ่ายอวัยวะ ทำให้ผู้ป่วยเสียค่าใช้จ่ายที่น้อยลง จึงทำให้ผู้ป่วยเข้าสู่ระบบมากขึ้น ดังนั้นการสนับสนุนจากภาครัฐ เอกชน และสื่อมวลชน จึงเป็นปัจจัยหลักที่จะทำให้การรณรงค์และส่งเสริมการรับบริจาคอวัยวะประสบความสำเร็จ และสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยที่ทนทุกข์ทรมานจากความเจ็บป่วยให้ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะได้มากยิ่งขึ้น”
เนื่องใน “วันศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย” วันที่ 2 เมษายน นี้ ขอเชิญชวนท่านผู้มีจิตศรัทธาร่วมแสดงความจำนงบริจาคอวัยวะ ได้ที่อาคารแพทยพัฒน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ภายในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์) ตั้งแต่เวลา 09.00-13.00 น.
ศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย เป็นองค์กรการกุศลที่ได้รับความไว้วางใจจากสาธารณชนและวงการแพทย์ เพื่อเป็นศูนย์ในการดำเนินงานรับบริจาคอวัยวะจากสาธารณชนทั่วประเทศ เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ และให้บริการข้อมูล ข่าวสาร และประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการบริจาคอวัยวะแก่วงการแพทย์และสาธารณชนโดยทั่วไป สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทรศัพท์ 1666, 02256-4045-6