เกษตรกรอ้อยและแรงงาน 1 ล้านราย เตรียมรุกฮือ แบนพาราควอต ไร้เหตุผลและข้อเท็จจริงด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม แต่กลับเป็นเพียง สารพิษการเมือง ที่นักการเมืองใช้เป็นเครื่องมือในการหาผลประโยชน์ แล้วโทษเกษตรกร ทั้งที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณาไปแล้วด้วยข้อมูลจากฝั่งที่กล่าวอ้าง แต่ไม่พบความเชื่อมโยงในการกล่าวหาสารพาราควอต
สหสมาคมชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย สหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย ชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน และสมาพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย ในนามตัวแทนสมาชิกชาวไร่อ้อยรวม 37 สถาบันในเขตภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กว่า 4 แสนครัวเรือน รวม 1.2 ล้านราย ร่วมประกาศจุดยืน ค้านการแบนพาราควอตและไกลโฟเซต เนื่องจาก อ้อยเป็นพืชเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สร้างแรงงาน รายได้เข้าสู่ประเทศปีละหลายแสนล้านบาท การใช้สารออร์แกนิกแทนสารเคมี คงไม่สามารถนำมาใช้กับการทำเกษตรอุตสาหกรรมได้ ดังนั้น การยกเลิกสารดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยอย่างมาก
นายทองคำ เชิงกลัด ประธานสหสมาคมชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย กล่าวถึงผลกระทบสำคัญว่า “ต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ค่าสารเคมี ค่าแรงงาน รวมทั้งยังเป็นข้อสงสัยเรื่อง สารทดแทนนั้นมีราคาสูงแต่คุณสมบัติไม่แน่ใจว่าทดแทนกันได้ และเครื่องจักรไม่สามารถใช้ได้ในไร่อ้อย โดยเฉพาะวัชพืชที่อยู่ในแถวหรือโคนอ้อย ที่สำคัญ หากมีการตกค้างของพาราควอตจริง วัชพืชคงไม่สามารถเติบโตขึ้นมาใหม่ในพื้นที่เดิมที่เคยฉีดได้ ดังนั้น ในนามของ 4 องค์กรชาวไร่อ้อย เห็นควรให้ใช้สารดังกล่าวต่อไปอย่างมีขอบเขตตามที่ได้จัดอบรมไปก่อนหน้านี้”
ขณะเดียวกัน ชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยลุ่มน้ำป่าสัก สมาคมชาวไร่อ้อยเพชรบูรณ์ สมาคมชาวไร่อ้อยเขื่อนป่าสัก สระบุรี สมาคมชาวไร่อ้อยพิจิตร พิษณุโลก สมาคมชาวไร่อ้อยบึงสามพัน นำโดย นายวิชัย เปาวิมาน นายกสมาคมชาวไร่อ้อยลพบุรี กล่าวเสริมว่า “ปัจจุบัน ไม่สามารถใช้แรงงานได้เหมือนเมื่อก่อน การใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชพาราควอต จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ประกอบกับยังไม่มีสิ่งใดมาทดแทนได้ในทางปฏิบัติ เห็นควรให้อนุญาตใช้สารต่อไปภายใต้การจำกัดการใช้ จนกว่าจะหาสารทดแทนอันเป็นที่ยอมรับของเกษตรกรได้”
ด้าน ดร. กิตติ ชุณหวงศ์ นายกสมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย กล่าวสรุปว่า “การเพาะปลูกอ้อยของไทยในพื้นที่กว่า 11 ล้านไร่ สร้างรายได้สูงกว่า 3 แสนล้านบาทต่อปี เนื่องจากเกษตรกรไม่สามารถผลิตอ้อยได้ตามเป้าหมาย กระทบเป็นลูกโซ่ ส่งผลให้โรงงานน้ำตาลขาดวัตถุดิบ ต้นทุนผลิตสูงขึ้น กระทบต่อเนื่องไปยังอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายดิบ ผลเลวร้ายที่สุด โรงงานน้ำตาลคงต้องทยอยปิดตัวลงในไม่ช้า เหตุเพราะขาดทุน”
ด้าน ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI เปิดเผยในรายการสถานีวิทยุจุฬาฯ ว่า การใช้สารเคมีเกษตร ทำให้ประเทศไทยพัฒนาเกษตรกรรมมาหลายสิบปี จนผลิตได้เกินบริโภคมากมาย ถ้าไม่ใช้สารเคมีเกษตร คือ ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี ไม่ใช้เคมีเกษตร ไทยจะผลิตอาหารไม่พอกิน ถ้าไม่ใช้เคมีเกษตร แต่ใช้ปุ๋ยเคมี อาจพอกินในภาพรวม แต่บางกลุ่มจะลำบาก เช่น อาจต้องใช้แรงงานใช้จอบเสียมแทน แต่แรงงานก็มีราคาแพงกว่า รัฐบาลจะจัดการปัญหาตามกระแส ตามความรู้สึก ตามการเมือง ไม่ใช่ข้อมูลวิชาการไม่ได้ การแบน DDT ในอดีต คนจะใช้ก็ไปแอบนำเข้า ในสหรัฐอเมริกา เมื่อมีปัญหาสารกำจัดวัชพืช เขาก็มีวิธีควบคุมแก้ปัญหาแบบวิทยาศาสตร์และทำการค้าขายได้ ท้ายสุด เรื่องเหล่านี้ จะมีผู้ได้และผู้เสียประโยชน์ ไม่ว่าจะเลือกใช้หรือแบน จะชดเชยความเสียหายให้เกษตรกร และอุตสาหกรรมต่าง ๆ อย่างไร
“สิ่งเหล่านี้ รัฐบาล ต้องไม่ปล่อยให้เกิดขึ้น ไม่เช่นนั้นผลกระทบกับมูลค่า GDP ภาคการเกษตรจะกระทบมหาศาล เป็นมูลค่าความเสียหายในการส่งออกเฉพาะน้ำตาลและผลิตภัณฑ์ กว่า 94,618 ล้านบาท จากมูลค่าความเสียหายรวมกว่า 570,000 ล้านบาท และถ้ารัฐคิดจะจ่ายค่าชดเชยให้ผู้ปลูกอ้อย ต้องใช้วงเงินอย่างน้อย 270,000 ล้าน โดยยังไม่รวมค่าชดเชยในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง และอาจใช้ระยะเวลาในการชดเชยมากกว่า 1 ปีแน่นอน” ดร. กิตติ ชุณหวงศ์ กล่าวสรุป
สมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย
อาคารอุตสาหกรรมเกษตร 3 ชั้น 4 ห้อง 3410
คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
เลขที่ 50 ถนนงามวงศ์วาน แขวงลาดยาว
เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900
โทรศัพท์ 0-2562-5000 ต่อ 5343