หลังจากที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้แสดงความคิดเห็นต่อการยกเลิกใช้สารพาราควอต ซึ่งขัดแย้งกับ มติคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่ให้จำกัดการใช้ โดยให้สามารถใช้ได้ ภายใต้การควบคุมอย่างเหมาะสมนั้น ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมเกษตรไปในหลายพืชเศรษฐกิจ ข้าวโพดหวาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง โดยเฉพาะ อ้อย ซึ่งปัจจุบัน มีราคาตกต่ำ และเกษตรกรขาดทุนอย่างต่อเนื่อง ภาคอุตสาหกรรมอ้อย จึงอยากให้ยืนยันมติเดิม ให้ใช้พาราควอต ต่อไป แต่จำกัดการใช้และมีมาตรควบคุมการใช้อย่างเหมาะสม
นายรณยุทธ์ สัตยานิคม ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายภาคที่ 2กล่าวถึงแนวทางการจัดการปัญหาสารพาราควอตในภาคอุตสาหกรรมอ้อยว่า “การแบนสารเคมีไม่ใช่ทางออก ควรส่งเสริมการใช้สารเคมี เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด เมื่อใช้อย่างถูกต้องแล้ว ปริมาณสารเคมีที่ใช้ก็จะลดลง ดังนั้น ภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ควรกำหนดขั้นตอนและกระบวนการควบคุมการจำหน่าย การใช้สารพาราควอตอย่างถูกต้อง ปลอดภัย และฝึกอบรมอาสาสมัครประจำท้องถิ่นที่มีการใช้สารพาราควอต มีระบบตรวจสอบและควบคุมเพื่อติดตามผลอย่างใกล้ชิด”
ปัญหาที่เกิดขึ้น เนื่องจากขาดหลักเกณฑ์ ความชัดเจนในระบบบริหารจัดการใช้สารเคมีในเมืองไทย สารเคมีเป็นสิ่งที่เป็นอันตรายหากใช้ผิดประเภท หรือเกินคำแนะนำ แต่ไม่มีหน่วยงานทางวิชาการของภาคเกษตรออกมาให้ข้อมูลตัวเลขสากลที่รับได้ในค่ามาตรฐานให้สังคมคลายกังวล กลับปล่อยให้หน่วยงานด้านสาธารณสุขมาให้ข้อมูลเพียงด้านเดียว จนทำให้คนในสังคมคล้อยตามข้อมูล โดยลืมไปว่า ข้อมูลด้านมหภาคทางเศรษฐกิจมีเหตุผลอย่างไรในการนำเข้าสารเคมีดังกล่าวเข้ามาใช้
ปัจจุบัน เกษตรกรได้รับผลกระทบจากราคาอ้อยที่ตกต่ำอย่างต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 3 แล้ว หากยังคงอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้ต่อไป เกษตรกรอาจประสบปัญหา เลิกผลิตหรือปลูกอ้อย ส่งผลต่อภาคอุตสาหกรรมโรงงานน้ำตาลในระยะยาวได้
“สำหรับการปนเปื้อนสารพาราควอตในอุตสหากรรมน้ำตาลเพื่อการบริโภค ไม่มีทางเป็นไปได้ เนื่องจากในกระบวนการผลิตมีการตรวจสอบ ควบคุม จึงทำให้สามารถมั่นใจได้ว่า ไม่มีการปนเปื้อนของสารพาราควอตแน่นอน” นายรณยุทธ์ กล่าวสรุป