ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา และประชาชน ร่วมระดมความคิดเห็นเสนอแนวทางมาตรการจำกัดการใช้สารพาราควอต คลอร์ไพรีฟอส และไกลโฟเซต เตรียมยื่นข้อสรุป 4 มาตรการแนวทางปฏิบัติให้กรมวิชาการเกษตร นำไปจัดทำร่างแผนมาตรการควบคุมสารทั้งสามชนิด เพื่อเสนอให้คณะกรรมการวัตถุอันตราย กระทรวงอุตสาหกรรม พิจารณาในลำดับต่อไป
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. สุทัศน์ ศรีวัฒนพงษ์ ที่ปรึกษาสมาคมเทคโนโลยีชีวภาพสัมพันธ์ กล่าวว่า มติคณะกรรมการวัตถุอันตราย กระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 กำหนดให้ “จำกัดการใช้” สารกำจัดวัชพืช พาราควอต คลอร์ไพรีฟอส และไกลโฟเซต ซึ่งเป็นแนวทางที่เหมาะสมในสถานการณ์ปัจจุบัน โดยมอบหมายให้กรมวิชาการเกษตร จัดทำร่างแผนมาตรการควบคุมสารทั้งสามชนิด ให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการวัตถุอันตรายฯ พิจารณาและลงมติเห็นชอบ ก่อนประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา ให้มีผลบังคับใช้ตามกฎหมายต่อไปนั้น สมาคมเทคโนโลยีชีวภาพสัมพันธ์ ในฐานะองค์กรภาคการเกษตร จึงได้จัดเวทีระดมความคิดเห็นเรื่อง มาตรการจำกัดการใช้สารพาราควอต คลอร์ไพรีฟอส และไกลโฟเซต ขึ้น เพื่อรวบรวมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน แล้วนำเสนอต่อกรมวิชาการเกษตรและภาครัฐผู้มีอำนาจตัดสินใจ”
ทั้งนี้ เวทีระดมความคิดเห็นเรื่อง มาตรการจำกัดการใช้สารพาราควอต คลอร์ไพรีฟอส และไกลโฟเซต ได้รับความร่วมมือจากกลุ่มผู้แทน สถาบันการศึกษา องค์กรด้านสุขภาพ สมาคมการค้า เกษตรกร และภาครัฐ ได้แก่ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ภาควิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีกาญจนบุรี สถาบันวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศูนย์วิจัยและพัฒนามาตรฐานสินค้าเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านนาบัว จังหวัดนครพนม สาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ศูนย์ห้องปฏิบัติการและวิจัยทางการแพทย์และการเกษตรแห่งเอเชีย ศูนย์การเรียนรู้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร จังหวัดสุพรรณบุรี กลุ่มโรงงานน้ำตาลลุ่มแม่น้ำแม่กลอง จังหวัดกาญจนบุรี สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป สมาคมเทคโนโลยีชีวภาพสัมพันธ์ ผู้แทนจัดจำหน่ายสารเคมี จังหวัดลพบุรีและสระแก้ว และกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
รองศาสตราจารย์ ดร. พรชัย เหลืองอาภาพงศ์ อุปนายกสมาคมเกษตรปลอดภัย และผู้เชี่ยวชาญด้านวัชพืช กล่าวว่า “การระดมความคิดเห็นต่อมาตรการจำกัดการใช้สารพาราควอต คลอร์ไพรีฟอส และไกลโฟเซต ได้รับความเห็นชอบจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง สามารถสรุปได้เป็น 4 มาตรการหลัก ครอบคลุมการนำเข้า การผลิต การจัดจำหน่าย และการใช้สารเคมีทั้งสามชนิด ดังนี้
มาตรการจำกัดการใช้ ด้านการนำเข้าสาร ควร (1) จำกัดปริมาณการใช้ โดยพิจารณาถึงความเหมาะสมต่อการใช้งานจริง (2) เพิ่มมาตรการควบคุมการผลิตและจัดจำหน่ายภายหลังจากขึ้นทะเบียนสารให้มากขึ้น รวมทั้งสื่อสารเรื่องความเสี่ยงของการใช้สาร (3) ปรับปรุงและสร้างการมีส่วนร่วมในกระบวนการติดตามและเฝ้าระวังของกรมวิชาการเกษตรให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น (4) สร้างการรับรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสารพิษตกค้างให้มากขึ้น และ (5) ส่งเสริมการวิจัยเพื่อจัดหาสารทดแทนหรือทางเลือกที่เหมาะสม
มาตรการจำกัดการใช้ ด้านการผลิต ควรประสานความร่วมมือกันระหว่างกรมวิชาการเกษตรและบริษัทผู้ผลิต (1) จัดอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกรอย่างต่อเนื่อง (2) ปรับปรุงฉลาก เพิ่มรายละเอียดด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (3) กำหนดมาตรฐานและควบคุมคุณภาพสารให้ตรงตามที่ขึ้นทะเบียน
มาตรการจำกัดการใช้ ด้านการจัดจำหน่าย ควร (1) พัฒนาบุคลากรประจำร้านให้มีความเชี่ยวชาญ (2) ปรับปรุงหลักสูตรอบรมร้านค้า เพิ่มเติมในประเด็นด้านสุขภาพ (3) จำหน่ายอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลในราคาประหยัด (4) ห้ามโฆษณาขายสารดังกล่าวผ่านรถเร่ขายและสื่อออนไลน์ (5) สร้างกลไกการติดตามการใช้สารเคมีผ่านบัตรสินเชื่อเกษตรกร (6) สามารถจำหน่ายได้เฉพาะในร้านค้าควบคุมเท่านั้น (7) ยกระดับความสามารถของร้านค้าให้มีความรู้ ความสามารถในการถ่ายทอด และมีความรับผิดชอบ
มาตรการจำกัดการใช้ ด้านการใช้สาร ควร (1) พัฒนาหลักสูตรอบรมเกษตรกรให้มีความทันสมัยและเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน (2) กระจายอำนาจให้หน่วยงานปกครองท้องถิ่นเป็นผู้อบรมและพัฒนาความรู้เกษตรกร (3) สร้างกลไกการติดตามการอบรมผ่านบัตรสินเชื่อเกษตรกร (4) พัฒนาศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรเป็นหน่วยงานกลางในการอบรมและให้บริการฉีดพ่นสารเคมีอย่างถูกต้อง
แนวทางดังกล่าวจะเป็นมาตรการที่สามารถนำไปปฏิบัติใช้ได้จริง ตั้งแต่หน่วยงานที่กำกับดูแล ควบคุมสารเคมีการเกษตร ผู้นำเข้า ผู้ผลิต ผู้จำหน่าย และเกษตรกร” รองศาสตราจารย์ ดร. พรชัย เหลืองอาภาพงศ์ กล่าวสรุป