ภาคอุตสาหกรรมเกษตร วอนรัฐเห็นใจเกษตรกร หากเลิกใช้พาราควอต สูญกว่าแสนล้านบาทต่อปี

สมาคมเทคโนโลยีชีวภาพสัมพันธ์ ร่วมกับ กลุ่มรวบรวมข้าวโพดหวานแห่งประเทศไทย กลุ่มโรงงานน้ำตาลลุ่มน้ำแม่กลอง สมาคมส่งเสริมธุรกิจพืชอาหารสัตว์ สมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และผู้เชี่ยวชาญด้านปาล์มน้ำมัน จัดเสวนา วิเคราะห์เศรษฐกิจเกษตร หากไร้พาราควอตพบว่า เกิดความเสียหายขึ้นทันทีหากยกเลิกใช้ สารพาราควอต มูลค่าสูงกว่าแสนล้านบาท เพราะพาราควอตเป็นปัจจัยการผลิตสำคัญกับพืชเศรษฐกิจหลายชนิดไม่ว่าจะเป็นยางพาราในพื้นที่ 25 ล้านไร่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 8 ล้านไร่ ข้าวโพดหวาน 7 แสนไร่ อ้อย 11 ล้านไร่ มันสำปะหลัง 8 ล้านไร่ และปาล์มน้ำมัน 5 ล้านไร่ 

ดังนั้น ภาคอุตสาหกรรมเกษตร  ร้องขอให้ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าใจถึงผลกระทบและความเสียหายต่อเกษตรกร ระบบการผลิต อุตสาหกรรมการแปรรูป อุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งเชื่อมโยงเป็นห่วงโซ่ที่แยกจากกันไม่ได้ โดยเฉพาะ เกษตรกร ในฐานกระดูกสันหลังของชาติ ขอให้พิจารณาผลกระทบอย่างรอบคอบ หากเกษตรกรอยู่ไม่ได้ สร้างผลผลิตไม่ได้ จะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังอุตสาหกรรมเกษตรทั้งระบบ

อุตสาหกรรมเกษตร

ดร. นิพนธ์ เอี่ยมสุภาษิต นายกสมาคมเทคโนโลยีชีวภาพสัมพันธ์ เปิดเผยว่า สินค้าเกษตรมีบทบาทสำคัญด้านการส่งออกสำคัญของประเทศไทย ได้แก่ ข้าวโพด มันสำปะหลัง ผลผลิตจากอ้อย อาทิ น้ำตาลดิบ ส่งออกเป็นอันดับต้นๆ ของโลก โดยมีเทคโนโลยีปัจจัยการผลิตสำคัญ  นั่นคือ สารกำจัดวัชพืชพาราควอต ที่ช่วยให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุน บริหารปัญหาวัชพืชอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถผลิตได้อย่างมีคุณภาพและตรงตามความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้ง กลุ่มนักวิชาการและแพทย์ชี้ข้อเท็จจริงแล้วว่า พาราควอต มีความจำเป็นต่อเกษตรกร และประเด็นด้านสุขภาพจากเอกสารงานวิจัยต่าง ๆ ไม่ได้ระบุว่า พาราควอต เป็นสาเหตุของการเกิดโรค และอาการต่าง ๆ ดังกล่าวอ้าง เป็นเพียงการแสดงความคิดเห็น

ดร.บรรพต ด้วงชนะ นักวิชาการด้านอ้อยและน้ำตาล กลุ่มโรงงานน้ำตาลลุ่มน้ำแม่กลอง กล่าวว่า อ้อย กับ วัชพืช เป็นของคู่กัน โดยเฉพาะระยะการเจริญเติบโตของอ้อยในช่วง 4-5 เดือน จะต้องปลอดวัชพืช ดังนั้น สารพาราควอต เสมือนเป็นยาสามัญประจำบ้าน มีความจำเป็นต่อการเพาะปลูกอ้อยของไทย ในพื้นที่รวมกว่า 11 ล้านไร่ สร้างรายได้สูงเกือบ 300,000 ล้านบาทต่อปี หากมีการยกเลิกใช้สารพาราควอต คิดเป็นมูลค่าความเสียหายสูงถึง 60,000 ล้านบาท เนื่องจาก ปัจจุบัน อุตสาหกรรมโรงงานน้ำตาล ร้อยละ 80 เป็นผู้ให้เงินทุนสนับสนุนต่อชาวไร่อ้อย หากชาวไร่อ้อยไม่สามารถผลิตอ้อยส่งได้ตามเป้าหมาย เกษตรกรก็จะขาดรายได้และเกิดหนี้สิน ส่วนโรงงานน้ำตาลก็ขาดวัตถุดิบและต้นทุนการผลิตสูงขึ้น กระทบต่อเนื่องไปยังอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายดิบ

นายคมกฤต ปานจรูญรัตน์ รองประธาน กลุ่มรวบรวมข้าวโพดหวานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า พื้นที่ปลูกข้าวโพดหวานทั่วประเทศ มีขนาด 700,000 ไร่ มูลค่าการส่งออกเกือบ 7,000 ล้านบาท ยังไม่นับการบริโภคภายในประเทศ อาจมีมูลค่าไม่น้อยกว่า 6,000 ล้านบาท และประเทศไทย ส่งออกเป็นอันดับหนึ่งของโลก ปัจจุบัน ยังไม่มีสารใดสามารถใช้ทดแทนได้ในประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่เท่ากัน หากมีการห้ามใช้ สารพาราควอต ข้าวโพดหวาน จะส่งผลต้นทุนการเกษตรเพิ่มขึ้น คิดเป็นมูลค่า 800 ล้านบาท และจะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังกลุ่มผู้ผลิตข้าวโพดกระป๋อง คิดเป็นมูลค่า 7,000 ล้านบาท 

ด้านการส่งออก ปัจจุบัน กลุ่มประเทศในยุโรป ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ นำเข้าข้าวโพดหวานจากไทยเป็นจำนวนมาก แม้ว่าจะมีการใช้สารพาราควอต ในกระบวนการผลิต ไม่เคยเกิดกรณีตีกลับข้าวโพดหวานจากสารพาราควอตตกค้าง หรือมีอันตรายต่อผู้บริโภค แต่กระแสข่าวที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับพาราควอต ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นด้านการส่งออกในระดับนานาชาติ

นายเดชรักษา ทัพทวี นายกสมาคมส่งเสริมธุรกิจพืชอาหารสัตว์ กล่าวว่า โปรตีนจากเนื้อสัตว์ เป็นแหล่งอาหารสำคัญของประชากรโลก ณ ปัจจุบัน โดยปัจจัยสำคัญต่ออุตสาหกรรมเนื้อสัตว์  คือ พืชอาหารสัตว์ เช่น มันสำปะหลัง ข้าวโพด หญ้าเนเปียร์ และพืชอื่นๆ ปัจจุบัน ต้นทุนพืชอาหารสัตว์สูง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อไปยังอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ ที่จะมีราคาสูงขึ้น หากมีการห้ามใช้ สารพาราควอต อีก ก็จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตของเกษตรกรสูงขึ้น ปริมาณผลผลิตพืชอาหารสัตว์ลดลง สุดท้ายก็จะส่งผลต่อผู้บริโภครับประทานเนื้อสัตว์ในราคาที่แพงขึ้น คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 700 ล้านบาท 

นายภมร ศรีประเสริฐ อุปนายก สมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลัง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า ประเทศไทยส่งออกมันสำปะหลังเป็นอันดับ 1 ของโลก มีพื้นที่เพาะปลูก 7.9 ล้านไร่ มูลค่าส่งออกอุตสาหกรรมแป้งมันและมันเส้นมากกว่า 110,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ประเทศไทยใช้มันสำปะหลังในอุตสาหกรรมอาหารมากที่สุด โดยแต่ละโรงงานผลิตมันสำปะหลังมีระบบประกันคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็น ISO GMP HACCP ขณะเดียวกัน สำนักงานมาตรฐานสินค้า กระทรวงพาณิชย์ ก็ได้มีการตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง ยังไม่เคยพบสารพาราควอตในมันสำปะหลัง ผู้บริโภคจึงมั่นใจได้ว่า มันสำปะหลังมีคุณภาพดีและปราศจากการปนเปื้อน ดังนั้น การห้ามใช้ พาราควอต จึงไม่มีความจำเป็น เพราะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค แต่กลับจะส่งผลต้นทุนการเกษตรเพิ่มขึ้น ผลผลิตสูญหาย และกระทบต่อเนื่องไปยังอุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลังและมันสำปะหลังเส้น จนถึงการส่งออกไปต่างประเทศ

รศ. ดร. พรชัย เหลืองอาภาพงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านปาล์มน้ำมัน กล่าวว่า ปาล์มน้ำมัน ใช้ในหลายอุตสาหกรรมทั้งการบริโภค อุปโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไบโอดีเซล ปัจจุบัน มีเกษตรกรสวนปาล์มรวมพื้นที่ 5.5 ล้านไร่ ปกติใช้สารกำจัดวัชพืช พาราควอต ปีละ 1-2 ครั้ง ไม่สามารถทดแทนด้วยกำลังคน เนื่องจากมีต้นทุนแรงงานที่สูง และหาแรงงานยาก หากมีการห้ามใช้ พาราควอต จะส่งผลต้นทุนการเกษตรเพิ่มขึ้น คิดเป็นมูลค่า 466 ล้านบาท สำหรับยางพาราต้นทุนจะเพิ่มขึ้นเป็นมูลค่า 10,389 ล้านบาท

อุตสาหกรรมเกษตร

ท้ายที่สุด กลุ่มรวบรวมข้าวโพดหวานแห่งประเทศไทย กลุ่มโรงงานน้ำตาลลุ่มน้ำแม่กลอง สมาคมส่งเสริมธุรกิจพืชอาหารสัตว์ สมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และผู้เชี่ยวชาญด้านปาล์มน้ำมัน มีความเห็นตรงกันว่า ไม่ควรห้ามใช้ สารกำจัดวัชพืช พาราควอต เพราะเป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิต ส่งผลกระทบกับห่วงโซ่อุปทานทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำ (การผลิต) จนถึงปลายน้ำ (ผลิตผลหรือสินค้าแปรรูป) และยังไม่มีสารอื่นที่สามารถมาทดแทนได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่เท่าเทียมกัน รวมทั้ง ภาครัฐยังไม่มีมาตรการรองรับผลกระทบด้านต้นทุนของเกษตรกร หากมีการห้ามใช้ พาราควอต จะส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรของไทยอย่างใหญ่หลวง พิจารณาเพียงแค่กลุ่มเกษตรกรข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ยางพารา ส่งผลกระทบเสียหายทั้งระบบรวมมูลค่ากว่าแสนล้านบาท ดังนั้น จึงขอให้ภาครัฐคำนึงถึง เกษตรกร บริบทของประเทศไทย ผลประโยชน์ของประเทศชาติ เป็นหลัก และพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนการตัดสินใจ เพราะประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม เกษตรกรคือกลจักรสำคัญของประเทศ ที่จะก้าวสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 เป็น ครัวของโลก ได้อย่างแท้จริง

Message us