จุฬาฯยืนยันน้ำท่วมปีนี้ไม่รุนแรงเหมือนปี 2554

จุฬาฯยืนยันน้ำท่วมปีนี้ไม่รุนแรงเหมือนปี 2554 มั่นใจอยุธยา เป็นปกติในสิ้นเดือน ต.ค.  และปราจีนบุรี-ฉะเชิงเทรา ในกลางเดือน พ.ย.นี้

คณาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมั่นใจสถานการณ์น้ำท่วมจะคลี่คลายเป็นปกติ ภายในไม่เกินสิ้นเดือนตุลาคมและกลางเดือนพฤศจิกายนนี้  ยืนยันสถานการณ์น้ำท่วมปีนี้จะไม่แผ่ ขยายเป็นวงกว้างเหมือนปี พ.ศ. 2554 โดยพื้นที่เสียหายรุนแรงจากน้ำท่วมจะจำกัดอยู่เฉพาะ 3 จังหวัด คือ ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา และพระนครศรีอยุธยา พร้อมเตือนให้เร่งเฝ้าระวังเหตุการณ์ น้ำท่วมในจังหวัดทางภาคใต้ต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฏร์ธานี และ นครศรีธรรมราช 

น้ำท่วม

ศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.มงคล เตชะกำพุ รองอธิการบดีด้านวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในฐานะสถาบันการศึกษาชั้นสูงและ เป็นศูนย์รวมขององค์ความรู้ครอบคลุมทุกสาขา  ทำหน้าที่เป็น “เสาหลักของแผ่นดิน” และเป็นแหล่งอ้างอิงทางวิชาการของสังคม มหาวิทยาลัยตระหนักดีถึงความกังวลของประชาชนต่อสถานการณ์ น้ำท่วมที่กำลังสร้างความเสียหายในหลายพื้นที่ และได้เฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อแสวงหาคำตอบที่มีความชัดเจนชี้แจงแก่ประชาชน  ที่ผ่านมาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาเมื่อครั้งที่ประเทศไทยเกิดมหาอุทกภัยเมื่อปี 2554  รวมทั้งให้ความช่วยเหลือในด้านต่างๆแก่ผู้ประสบภัย   สำหรับอุทกภัยที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ นอกจากบทบาททางวิชาการและองค์ความรู้ต่างๆที่คณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญจากจุฬาฯได้ให้ความช่วยเหลือแก่สังคมแล้ว  ในส่วนของนิสิตโดยองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ จะจัดโครงการชาวจุฬาฯรวมใจช่วยภัยน้ำท่วม ในเดือนตุลาคมนี้  โดยลงพื้นที่ไปมอบถุงยังชีพแก่ประชาชนที่เดือดร้อน รวมทั้งสร้างกำแพงป้องกันโบราณสถานถูกน้ำท่วมที่ จ.อยุธยา 

รองศาสตราจารย์ ดร. สุจริต คูณธนกุลวงศ์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ คณะวิศวกรรมศาสร์ จุฬาฯ ชี้แจงว่า จากการเฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด สามารถยืนยันได้ว่า เหตุการณ์น้ำท่วมในปีนี้จะไม่รุนแรงเหมือนปี พ.ศ. 2554 โดยลักษณะการท่วมในปีนี้ จะเป็นการท่วมในพื้นที่จำกัด ซึ่งพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมรุนแรงสำหรับปีนี้จะอยู่ในจังหวัดปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา และพระนครศรีอยุธยา และริมแม่น้ำเจ้าพระยาพื้นที่นอกคัน กทม. เป็นหลัก 

“หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมน้ำท่วมปีนี้มีความรุนแรงอยู่แถวปราจีนบุรีและฉะเชิงเทรา รวมทั้งบางจังหวัดในภาคตะวันออกทั้งที่เมื่อปี พ.ศ.2554 บริเวณดังกล่าวปลอดภัยจากน้ำท่วม ซึ่งคำตอบก็คือต้นเหตุของน้ำท่วมบริเวณนั้นมาจากปริมาณฝนเพียงอย่างเดียว คือ บริเวณดังกล่าวมีกลุ่มฝนกระจุกตัวอยู่ อีกทั้งปริมาณฝนที่ตกลงมายังมีปริมาณมากทำให้น้ำระบายไม่ทัน” 

อย่างไรก็ตาม รองศาสตราจารย์ ดร.สุจริต มั่นใจว่าสถานการณ์น้ำท่วมในภาคกลางจะค่อยๆ   คลี่คลายเข้าสู่ภาวะปกติภายในไม่เกินสิ้นเดือนตุลาคม และภาคตะวันออกจะถึงกลางเดือนพฤศจิกายนนี้  แต่ควรเฝ้าระวังการเคลื่อนตัวของพายุ นารี ”ต่อไป นอกจากนั้นควรให้ความสนใจเฝ้าระวังภัย น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดทางภาคใต้ โดยเฉพาะประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฏร์ธานี และนครศรีธรรมราช ให้มากขึ้น เนื่องจากกลุ่มฝนที่กระจุกตัวอยู่บริเวณพื้นที่ภาคกลาง และภาคตะวันออก จะค่อยๆ เคลื่อนตัวลงไปทางภาคใต้

น้ำท่วม

โอกาสนี้ รองศาสตราจารย์ ดร. ไพศาล สันติธรรมนนท์ ภาควิชาวิศวกรรมสำรวจ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้อำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่มีความกังวลในสถานการณ์น้ำท่วม สามารถติดตามความเคลื่อนไหวของสถานการณ์น้ำได้อย่างใกล้ชิดผ่านเว็บไซต์ http://thaicrisis.chula.ac.th หรือดาวน์โหลดโปรแกรมผ่านโทรศัพท์ iphone หรือ ipad บน itune store โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพียงพิมพ์ค้นหาชื่อ Flood Rest Thailand ซึ่ง ระบบสารสนเทศที่คณาจารย์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้พัฒนาขึ้นเพื่อบริการประชาชน  โดยประเมิน ความเสี่ยงภัยน้ำท่วมจากฐานข้อมูลราชการและประชาชน เพื่อให้ประชาชนรับรู้สภาพกายภาพ ของตนเองและประเมินระดับน้ำที่อาจมีผลกระทบ หรือสอบถามได้ที่ ศูนย์สื่อสารองค์กร จุฬาฯ โทรศัพท์   02-218-3364-5

Message us