เจาะลึกตลาดสุขภาพ LGBT

ตลาดสุขภาพ LGBT : ท่ามกลางปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ไปทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ทำให้การเข้าถึงบริการทางการแพทย์เป็นปัญหาสำคัญ ด้วยข้อจำกัดของบุคลากรทางการแพทย์ สถานการณ์การแพร่ระบาด และข้อปฏิบัติตามพระราชกำหนดฉุกเฉิน เพื่อควบคุมสถานการณ์การระบาดของโรคฯ

ตลาดสุขภาพ LGBT

ดังนั้น การพัฒนาระบบนวัตกรรมการแพทย์ จึงเป็นหัวใจสำคัญในระบบสาธารณสุขไทยให้มีประสิทธิภาพและยั่งยืน ที่ผ่านมา มีบริการปรึกษาทางการแพทย์ผ่านระบบโทรศัพท์ หรือ Telemedicine แต่ก็ยังมีข้อจำกัดในหลายด้าน ทั้งในแง่เครื่องมือ บุคลากร และเทคโนโลยี ซึ่งส่งผลต่อการยอมรับและนำระบบเข้าไปใช้กับกระบวนการสาธารณสุข ปัจจุบัน หลายหน่วยงานได้พัฒนาระบบให้สามารถก้าวพ้นขีดจำกัดและอุปสรรคทางการแพทย์ได้แล้ว

ภาพรวมตลาดสุขภาพนานาชาติ

ตลาดสุขภาพ lgbt

ผลการศึกษาหลายงานวิจัยในสหรัฐอเมริกา* พบว่า มากกว่าร้อยละ 50 ของกลุ่ม LGBT ถูกเลือกปฏิบัติหรือแบ่งแยกในการปฏิบัติและบริการทางสุขภาพ รวมทั้งกลุ่มชายและหญิงข้ามเพศ (Transgender) มากกว่าครึ่งประสบปัญหากับผู้ให้บริการทางสุขภาพ ซึ่งไม่มีความรู้เกี่ยวกับกลุ่มดังกล่าว ส่งผลต่อการให้บริการ ร้อยละ 28 ของกลุ่มชายและหญิงข้ามเพศ เมื่อป่วยหรือบาดเจ็บ ไม่ได้รับการดูแลอย่างทันท่วงที หรือถูกแบ่งแยกการปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ร้อยละ 75  ของกลุ่มเลสเบี้ยน ถูกปฏิเสธและเลื่อนการดูแลรักษา รวมทั้ง มีเพียงร้อยละ 16 ของกลุ่ม LGBT ยอมเปิดเผยตัวตนตอบุคลาการทางการแพทย์ว่าเป็น LGBT

*ข้อมูลจาก Lighthouse LGBT inc. (2021)

สอดคล้องกับผลการศึกษาของ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) พบว่า การตีตราจากสังคมทำให้กลุ่ม LGBT บางคนถูกปฏิเสธจากการให้บริการทางสุขภาพ หรือถูกเลือกปฏิบัติในรูปแบบที่คนทั่วไปอาจไม่สังเกตุเห็น สาเหตุหนึ่งมาจากผู้ให้บริการด้านสุขภาพไม่พยายามทำความเข้าใจความต้องการเฉพาะของกลุ่ม LGBT นำไปสู่การเผชิญความเครียดและความบอบช้ำทางจิตใจ เรียกได้ว่าเป็น “ความเครียดที่เกิดจากการเป็นคนกลุ่มน้อยในสังคม (Minority stress)” อันส่งผลต่อสุขภาพกายและจิตใจในที่สุด

ตลาดสุขภาพ lgbt

ในขณะที่ประเทศไทย โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ได้รายงานผลการสำรวจเพื่อสอบถามประสบการณ์การถูกตีตราและเลือกปฏิบัติของผู้มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย* ปี 2018-2019 ข้อค้นพบที่น่าสนใจ คือ คนทั่วไปมีทัศนคติที่ดีต่อกลุ่ม LGBT พร้อมสนับสนุนความเท่าเทียมและการเข้าถึงบริการต่าง ๆ ในสังคม และกลุ่ม LGBT ไทย ร้อยละ 92.9 เปิดเผยตัวตนว่าเป็น LGBT กับคนนอกครอบครัว

* กลุ่ม LGBT จำนวน 1,349 ราย และ กลุ่มชายจริง-หญิงแท้ 861 ราย อายุ 18-57 ปี

ที่สำคัญ ปัจจุบัน ประเทศไทย มีพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ว่าด้วยเรื่อง การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ เมื่อบุคคลใดเห็นว่าตนได้รับหรือจะได้รับความเสียหายจากการกระทําในลักษณะที่เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ และมิใช่เป็นเรื่องที่มีการฟ้องร้องเป็นคดีอยู่ในศาล หรือที่ศาลพิพากษาหรือมีคําสั่งเด็ดขาดแล้ว ให้มีสิทธิยื่นคําร้องต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติ โดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ พิจารณาได้ เป็นไปตามหลักการสิทธิมนุษยชนสากลตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเข้าเป็นภาคี

จากเหตุผลดังกล่าว ทำให้ประเทศไทยมีความพร้อมในการรองรับกลุ่ม LGBT จากทั่วโลก เป็นที่ยอมรับจากนานาชาติว่าเป็นดินแดนที่ยอมรับความแตกต่างและความหลากหลายทางเพศ

ขนาดประชากรและอำนาจการจับจ่าย

ประชากร LGBT ทั่วโลกมีประมาณ 400 ล้านราย โดยประมาณการณ์ประเทศอินเดีย มีกลุ่ม LGBT มากกว่า 70 ล้านราย ประเทศจีน 75 ล้านราย และไทย 4.2 ล้านราย มีอำนาจการจับจ่ายใช้สอยรวมทั่วโลกสูงถึง 3.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 117 ล้านล้านบาท และมูลค่าทรัพย์สินในครัวเรือนของกลุ่ม LGBT สูงถึง 23 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 690 ล้านล้านบาท

รวมทั้ง กลุ่ม LGBT ยังเป็นนักเดินทางท่องเที่ยวตัวยง สมาคมท่องเที่ยวกลุ่มเกย์และเลสเบี้ยนนานาชาติ ระบุว่า นักท่องเที่ยวกลุ่ม LGBT มีการเดินทางท่องเที่ยวบ่อยกว่าและใช้จ่ายมากกว่าปกติ โดยรวมทั่วโลก สูงถึง 218 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 6.5 ล้านล้านบาท และเข้ามามีบทบาทต่อเศรษฐกิจของไทย ประมาณ 1.15% เป็นสัดส่วนที่มากกว่าประเทศใด ๆ ในโลก

*ข้อมูลจาก Lighthouse LGBT inc. (2021) และ Out Now Consulting (2018)

อัตราแลกเปลี่ยน 30 บาทต่อ 1 เหรียญสหรัฐ

สินค้าและบริการใดมัดใจกลุ่ม LGBT

เมื่อพิจารณาจากความต้องการของผู้บริโภคกลุ่ม LGBT จะเห็นแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลง โอกาสและความท้าทายในหลายด้าน นับตั้งแต่

อดีต : ประเทศไทย ถือเป็น แหล่งปาร์ตี้ LGBT ที่มีชื่อเสียงในระดับโลก เป็นเมืองที่ทุกคนต่างอยากเข้ามาสนุกสนาน สังสรรค์ เห็นได้จากงานดนตรีระดับนานาชาติชื่อดังหลายรายการที่เข้ามาจัดให้เฉพาะกลุ่ม LGBT ที่ผ่านมา ทั้ง White Party หรือ G-Circuit

ปัจจุบัน : การพัฒนาประเทศไทยเป็น ศูนย์กลางแหล่งท่องเที่ยวสำหรับกลุ่ม LGBT น่าจับตามองและน่าจะได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจังจากรัฐบาล ด้วยทำเลที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ ประเทศไทย อยู่ตรงกลางระหว่างประชากร LGBT ในตลาดที่มีศักยภาพอย่าง อินเดีย และจีน ซึ่งสามารถเดินทางมาเที่ยวประเทศไทยโดยใช้เวลาเดินทางด้วยเครื่องบินไม่เกิน 4 ชั่วโมง

กำลังเติบโตเพิ่มขึ้น : การพัฒนาประเทศไทยเป็น ศูนย์กลางบริการสุขภาพสำหรับกลุ่ม LGBT ดังเห็นได้จากการจัดอันดับ ประเทศที่มีระบบสุขภาพดีที่สุดในโลก ประจำปี 2562 ของนิตยสาร CEOWORLD สหรัฐอเมริกา ประเทศไทยติดอันดับ 6 ระบบสุขภาพดีที่สุดในโลก และเป็นอันดับ 1 ในกลุ่มประเทศเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ พิจารณาจากปัจจัยต่างๆ ได้แก่

  • โครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุข
  • ประสิทธิภาพของบุคลากรด้านสาธารณสุข ตั้งแต่แพทย์ พยาบาล และบุคลากรอื่นๆ
  • ค่าใช้จ่ายในระบบ
  • การเข้าถึงยาคุณภาพ และ
  • ความพร้อมของรัฐบาลในการจัดการระบบ

ดังนั้น การต่อยอดหรือพิจารณาเจาะกลุ่มเป้าหมายอย่างเฉพาะเจาะจงในกลุ่มนี้ จะสร้างเม็ดเงินและนำรายได้เข้าสู่ประเทศได้เพิ่มมากขึ้น

กระแสใหม่กำลังมาแรง : การพัฒนาประเทศไทยเป็น ศูนย์กลางอสังหาริมทรัพย์และวัยเกษียณของกลุ่ม LGBT ด้วยการรับรู้ของกลุ่ม LGBT ทั่วโลก ให้การยอมรับว่าไทยเป็น Gay-Friendly Country ค่าครองชีพที่เหมาะสม ไม่แพง และมีธรรมชาติที่สวยงาม ทำให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์เป็นที่สนใจจากนักลงทุนและชาวต่างชาติมาโดยตลอด รวมทั้งการส่งเสริมและสนับสนุนจากนโยบายภาครัฐ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงโควิด ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) กำหนดแผนดึงกำลังซื้อชาวต่างชาติเข้ามาพำนักระยะยาว มีเป้าหมาย 1 ล้านคน เพื่อร่วมสร้างรายได้ให้ประเทศ 1 ล้านล้านบาท โดยให้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เช่น การให้วีซ่าระยะยาว 10 ปี ยกเว้นภาษีมรดก ลดภาษีสรรพสามิตสินค้าฟุ่มเฟือย ลดอัตราภาษีรายได้ ฯลฯ จึงนับเป็นโอกาสและความท้าทายในการต่อยอดธุรกิจจากแนวคิดนี้

อนาคต : การพัฒนาประเทศไทยสู่ ศูนย์กลางเทคโนโลยี-ภาพยนตร์-สินค้าอุปโภคและบริโภคของกลุ่ม LGBT หรือ พัฒนาจนให้เกิดการรับรู้และจดจำประเทศไทย เป็น HolllywoodforLGBT ซึ่งคาดว่าจะมาถึงอีกไม่นาน ขึ้นอยู่กับใครจะเป็นผู้เริ่มต้นและบุกเบิกสู่ตลาดก่อนในช่วงเวลาที่เหมาะสม

ภูเก็ต เนื้อหอม จุดหมายในฝันด้านสุขภาพของนักท่องเที่ยว

ตลาดสุขภาพ lgbt

ข้อมูลจาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานภูเก็ต ปี 2018 และ HVS Market Pulse ภูเก็ต ปี 2019 เปิดเผยว่า ในเดือนธันวาคม ปี 2018 มีจำนวนนักท่องเที่ยวบินมาเที่ยวภูเก็ตสูงสุด ทั้งชาวจีน รัสเซีย ออสเตรเลีย เกาหลี และอินเดีย รวมทั้งใน 2019 นักท่องเที่ยวชาวจีนมาเยือนทะลุ 12.9 ล้ายราย เป็นจุดมุ่งหมายปลายทางในฝันของกลุ่ม LGBT

นอกจากนี้ การจัดอันดับ Medical Tourism Index ปี 2020-2021 พบว่า ประเทศไทย เป็นจุดหมายปลายทางในฝันของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการแพทย์ ในอันดับที่ 5 กรมธนารัษ์ จึงร่วมมือกับ กระทรวงสาธารณสุข พัฒนาให้ ภูเก็ต กลายเป็นเมืองระดับโลกที่พร้อมรองรับอุตสาหกรรมและการเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการแพทย์ ที่มีคุณภาพสูงสำหรับชาวไทยและต่างประเทศ

ดังนั้น จึงเป็นที่น่าจับตามองต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ กับการพัฒนาตลาดในกลุ่ม LGBT ของภาคธุรกิจ เอกชน และหน่วยงานรัฐบาล ว่าจะผลักดันหรือขยายผลให้ประสบความสำเร็จได้มากขนาดไหน ต้องติดตาม…

เขียนโดย

สราวุธ บูรพาพัธ

สราวุ​ธ เป็นที่ปรึกษาด้านการสื่อสารให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนหลายแห่ง มีประสบการณ์ด้านการสื่อสารในธุรกิจพลังงาน สินค้าอุปโภคบริโภค ธุรกิจความงาม ธุรกิจบริการ และศูนย์การเรียนรู้ ทั้งในระดับประเทศและนานาชาติกว่า 20 ปี มีความเชี่ยวชาญในการวางแผนการสื่อสารแบบองค์รวม เพื่อสนับสนุนแผนการตลาดหรือสร้างภาพลักษณ์ให้แก่องค์กร รวมทั้ง บริหารจัดการสื่อสารภาวะวิกฤต

จบการศึกษาระดับปริญญาตรี และปริญญาโท คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Message us