เกษตรกรโวย กลูโฟซิเนต ทำพิษ พืชปลูกเสียหาย เหตุเร่งรีบแบนพาราควอต สภาอุตฯ ยัน สุริยะ ทบทวน ยกเลิกแบนพาราควอต
สมาพันธ์เกษตรปลอดภัย ได้รับการร้องเรียนจากกลุ่มเกษตรกร 7 พืชเศรษฐกิจ ได้รับผลกระทบจากการใช้ กลูโฟซิเนต จากคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร ฉีดพ่นหญ้าแต่พืชปลูกตายเรียบ เหตุพิษดูดซึม ด้านสภาอุตสาหกรรม เห็นผลกระทบการแบนสามสารเคมีรอบด้าน เคยยื่นหนังสือถึงกระทรวงอุตสาหกรรมร้อง สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ยกเลิกการแบนสารพาราควอต ล่าสุดเกิดผลกระทบเกษตรกร และจะกระทบอุตสาหกรรมต่อเนื่องถึง 2 ล้านล้านบาท
นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย และนายกสมาคมเกษตรปลอดภัย เปิดเผยว่า “เกษตรกรผู้ปลูกพืชเศรษฐกิจหลัก ได้แก่ อ้อย ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง ยางพารา ผลไม้ ข้าวโพดหวานและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปัจจุบันได้รับผลกระทบพืชปลูกเสียหาย ตายเรียบ จากคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร และแรงเชียร์จากเอ็นจีโอ ผลักดันให้ใช้ “กลูโฟซิเนต” ฆ่าหญ้าของนายทุนใหญ่ หลังแบนพาราควอตและจำกัดการใช้ไกลโฟเซต ด้วยความเร่งรีบแบนอย่างมีเงื่อนงำและเป็นขบวนการ โดยภาครัฐยังไม่มีมาตรการรองรับที่ชัดเจน ไร้มาตรการเยียวยาบรรเทาความเดือดร้อนให้เกษตรกร การแบนสารหนึ่งแล้วแนะนำให้ใช้อีกสารเคมีหนึ่ง ไม่ได้เป็นการช่วยเหลือเกษตรกรอย่างแท้จริง เพราะสุดท้ายผู้ได้ประโยชน์ก็คือ นายทุน ที่สำคัญ คณะกรรมการการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตร กลับอนุมัติให้มีการนำเข้าวัตถุดิบทางการเกษตรที่มีการตกค้างสารเคมีจากต่างประเทศมาให้ผู้บริโภคไทยรับประทานอีก เป็นการปฏิบัติสองมาตรฐาน เกิดความไม่เป็นธรรมต่อเกษตรกร และเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ทำไมกลุ่มเอ็นจีโอ จึงปิดปากเงียบกริบ
นายมนตรี คำพล ประธานสมาพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย กล่าวย้ำว่า เกษตรกรไร่อ้อยทั่วประเทศกว่า 4 แสนครัวเรือน เดือดร้อนหนักมากหลังประกาศยกเลิกใช้พาราควอต เพราะต้นทุนเกษตรกรเพิ่มมากขึ้น ทั้งค่าจ้างแรงงาน สารเคมี แถมต้องใช้สารเคมีมากขึ้นแต่ไม่มีประสิทธิภาพ เพราะ กลูโฟซิเนต ที่ได้รับคำแนะนำให้มาทดแทน นอกจากจะฆ่าหญ้าไม่ตายแล้ว กลับทำให้ต้นอ้อยไม่เติบโต กระทบเกษตรกร 4 แสนครัวเรือน หรือ 10 ล้านคน สอดคล้องกับนางวสาวทิพวรรณ ยงประโยชน์ เลขาธิการสมาพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย กล่าวว่า 4 องค์กรชาวไร่อ้อยพร้อมด้วย 37 สถาบันชาวไร่อ้อย ได้เข้าหารือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร เนื่องจากการแบนสารพาราควอต ทำให้ผลผลิตอ้อยลดลง ส่งผลกระทบถึงโรงงานน้ำตาล และ ข้อมูลที่นำมาใช้ในการแบนมีข้อน่ากังขาหลายประการ อีกทั้งเป็นการแบนสารชนิดหนึ่งให้ใช้สารอีกชนิดหนึ่งที่ไม่มีประสิทธิภาพ โดยท่านรับว่าจะส่งเรื่องทบทวนไปยังกระทรวงอุตสาหกรรม ชาวไร่อ้อย อุตสาหกรรมอ้อย และน้ำตาล ขอให้ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ในฐานะประธานคณะกรรมการวัตถุอันตรายได้นำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมอย่างเร่งด่วน เพราะเกษตรกร และอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลอาจไม่รอด ถ้าเป็นเช่นนี้ท่านจะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมได้อย่างไร หากอุตสาหกรรมในประเทศล่มสลาย
ดร.จรรยา มณีโชติ นายกสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศ กล่าวเสริมว่า ขั้นตอนการพิจารณายกเลิกการใช้พาราควอต เป็นที่น่าสังเกตุว่า ไม่ใช่ขั้นตอนปกติของกรมวิชาการเกษตร นอกจากการแบนสารอย่างเร่งรีบแล้ว ยังไม่มีความพร้อมของสารทดแทน ที่มีคุณสมบัติ ประสิทธิภาพและราคาที่ใกล้เคียงกับพาราควอต ไม่มีชีวภัณฑ์กำจัดวัชพืชที่ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้อง มีแต่ชีวภัณฑ์ปลอมปนด้วยสารพาราควอต และไกลโฟเซต รวมทั้ง การสืบค้นหาความจริงในงานวิจัยที่ถูกกล่าวอ้างว่าพบสารเคมีตกค้างในน้ำดื่มเมืองน่าน พบว่า นักวิจัยอ้างค่ามาตรฐานผิดจากความจริง และเมื่อลงพื้นที่หาสาเหตุโรคเนื้อเน่า ปลายปีที่ผ่านมา ไม่พบการตกค้างของพาราควอต แต่พบเชื้อแบคทีเรียสาเหตุของโรคเนื้อเน่า เช่นเดียวกับงานวิจัยพาราควอตในขี้เทาทารก พบว่ามีข้อน่าสงสัยหลายประการในวิธีการทดลองของนักวิจัยที่ยังไม่สามารถให้คำตอบที่ชัดเจนได้ แม้กระทั่งนักวิจัยเองยังแสดงความเห็นของตนเองในรายงานว่ามีการทำการศึกษาในตัวอย่างที่น้อยเกินไป และไม่สามารถสรุปความสัมพันธ์ของบางเหตุการณ์ได้
สิ่งที่น่ากลัวที่สุด สารกำจัดวัชพืชกลูโฟซิเนต ได้แบนไปแล้วในสหภาพยุโรป ปี 2561 เพราะพบว่า เป็นพิษต่อระบบประสาท ทำให้ระบบสืบพันธุ์และการเจริญของทารกผิดปกติ และอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม แต่กลับได้รับคำแนะนำจากกรมวิชาการเกษตรและเอ็นจีโอให้ใช้สารนี้ โดยไม่มีการนำเสนอข้อมูลที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคและเกษตรกรเลย บทเรียนที่น่าสนใจของการแบนกลูโฟซิเนตของสหภาพยุโรปคือ ใช้ระยะเวลาในกระบวนการยกเลิกถึง 13 ปี เพื่อให้เกษตรกรและผู้ประกอบการมีเวลาปรับตัวที่จะหาวิธีการหรือสารทดแทน และนำสินค้าออกจากตลาด แต่การแบนพาราควอตในประเทศไทย เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2563 เป็นการห้ามเกษตรกรและอุตสาหกรรมในประเทศใช้ ต้องส่งกลับคืนไปสู่ต้นทางเพื่อเผาทำลายเท่านั้น
นางสาวเพชรรัตน์ เอกแสงกุล ประธานกิตติมศักดิ์ และกรรมการคณะกรรมการกลุ่มอุตสาหกรรมเคมี สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) แสดงทัศนะว่า การแบนพาราควอต คลอร์ไพรีฟอส และจำกัดการใช้ไกลโฟเซต ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเคมีและอุตสาหกรรมต่อเนื่องถึง 2 ล้านล้านบาท สภาอุตสาหกรรมฯ เห็นว่าความเดือดร้อนนี้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศไทยและที่สำคัญมีผลกระทบกับเกษตรกรที่เป็นต้นน้ำของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องทั้งหมด สภาอุตสาหกรรมฯ จึงได้จัดงานเสวนาและถอดบทเรียนจากการแบนสารทั้ง 2 ชนิด เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ทางสภาฯ เคยส่งหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เพื่อขอให้พิจารณาข้อมูลที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน และหามาตรการบรรเทาผลกระทบให้ได้ก่อนตัดสินใจแบนสารทั้ง 2 ชนิด ซึ่งสภาฯ ก็ยังคงมีข้อเรียกร้องเดิมนี้ไปยังภาครัฐ และคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่ต้องทบทวนมาตรการต่างๆ อย่างรอบครอบ เพราะความเสียหายเกิดขึ้นแล้ว
“ขณะนี้ กระทรวงเกษตรกรและสหกรณ์ ภายใต้การนำของนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการฯ ได้ดำเนินการยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการวัตถุอันตรายแล้ว ซึ่งเป็นการทำงานในหน้าที่อย่างถูกต้อง สมเกียรติและศักดิ์ศรี ในความรับผิดชอบต่อชีวิต อาชีพ และความเป็นอยู่ของเกษตรกร คงเหลือแต่ กระทรวงอุตสาหกรรม ภายใต้การนำของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการฯ ที่จะออกมาปฏิบัติหน้าที่อย่างเหมาะสม ด้วยความภาคภูมิใจในความรับผิดชอบต่อเศรษฐกิจ ความมั่นคง และการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมที่กำลังประสบปัญหาจากวิกฤตโรคระบาด หรือ จะวางเฉย เป็นทองไม่รู้ร้อน เพราะมีประเด็นแอบแฝงอยู่เบื้องหลัง” นายสุกรรณ์ กล่าวสรุป