สมาคมเกษตรปลอดภัย เกษตรกรและผู้บริโภค บุกทำเนียบ แจง 5 ข้อเสนอเพื่อผู้บริโภค

สมาคมเกษตรปลอดภัย กลุ่มเกษตรกรและผู้บริโภคกว่า 30 ราย ยื่นหนังสือร้องเรียน นายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทรโอชา ขอให้พิจารณาคัดเลือกผู้ที่เหมาะสมในการดูแลกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ใหม่อีกครั้ง ในตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แทน นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน และนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ พร้อมเสนอแนวทาง 5 ประการ เพื่อความปลอดภัยด้านอาหารของผู้บริโภค

สมาคมเกษตรปลอดภัย

นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัยและนายกสมาคมเกษตรปลอดภัย พร้อมด้วยผู้บริโภคกว่า 30 ราย เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา ห้ามนำเข้า จำหน่ายและครอบครอง พาราควอต ในประเทศไทย นั่นหมายความว่า การนำเข้าสินค้าและวัตถุดิบทางการเกษตรจากต่างประเทศที่มีการใช้สารพาราควอต เช่น ถั่วเหลือง ข้าวสาลี แป้ง องุ่น แอปเปิล กาแฟ และอื่น ๆ  ดังนั้น ภาครัฐจะต้องประกาศห้ามการนำเข้าจากประเทศต้นทางด้วย โดยเฉพาะ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอีก 72 ประเทศทั่วโลก แต่กลับมีการประชุมร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่องอาหารที่มีสารพิษตกค้าง ระหว่างรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข พบว่า จะมีการผ่อนปรนการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าเกษตรที่มีการใช้สารพาราควอตและคลอร์ไพริฟอส เช่น ถั่วเหลือง กากถั่วเหลือง และข้าวสาลี จากต่างประเทศ จนถึง 1 มิถุนายน พ.ศ. 2564 (ปีหน้า)

นอกจากนี้ ยังมีการใช้สารพิษอันตรายอีกสองชนิด ได้แก่ ไกลโฟเซตและกลูโฟซิเนต เพื่อกำจัดวัชพืชในกลุ่มพืชมันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมันและไม้ผล จากคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร แต่สารทั้งสองชนิดมีการตกค้างในพืชผล และกลูโฟซิเนตถูกจัดอยู่ในวัตถุอันตรายระดับเดียวกับพาราควอต และถูกแบนไปในยุโรปแล้ว รวมทั้ง สารชีวภัณฑ์กำจัดวัชพืช จากการสุ่มตรวจสอบโดยกรมวิชาการเกษตรเอง ก็พบว่ามีการผสมสารพารา ควอตและไกลโฟเซต จึงไม่มีความปลอดภัยต่อสุขภาพและผลผลิตส่งถึงผู้บริโภค นับเป็นการหลอกลวงผู้บริโภคและเกษตรกรอีกด้วย

ขณะเดียวกัน กรมวิชาการเกษตรได้ยอมรับว่า ยังไม่สามารถหามาตรการหรือสารทดแทนพาราควอต ทั้งในด้านประสิทธิภาพและราคา รวมทั้ง ยังไม่มีแนวทางบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรได้ สิ่งที่กรมวิชาการเกษตรกรดำเนินการเป็นเพียงเสนอ “สารทางเลือก” ไม่ใช่ “สารทดแทน” โดยแนะนำให้ใช้กลูโฟซิเนต ซึ่งอาจเอื้อประโยชน์ต่อนายทุน แต่ไม่ได้ช่วยเกษตรกร เพราะไม่สามารถใช้สารดังกล่าวได้ในหลายพืช

จากสถานการณ์ดังกล่าว และตลอดระยะเวลาสามปีที่ผ่านมา ได้ติดตามการดำเนินการควบคุมการใช้สารเคมีด้านการเกษตรของรัฐบาลอย่างใกล้ชิด และเห็นถึงความไม่เป็นธรรมต่อเกตรกรและผู้บริโภคชาวไทย รวมทั้งความไม่โปร่งใสในการดำเนินการของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง จึงได้ดำเนินการเรียกร้องความยุติธรรมด้วยกระบวนการศาลไปในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา หลังจากพยายามเข้าพบและชี้แจงรายละเอียดความเดือดร้อนของเกษตรกรและผู้บริโภคต่อรัฐมนตรีว่าการและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อย่างต่อเนื่อง แต่ไม่ได้รับการแก้ไขและจัดการอย่างเหมาะสม

สมาคมเกษตรปลอดภัย

นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เน้นย้ำว่า “ในฐานะตัวแทนเกษตรกรและผู้บริโภคไทย จึงอยากขอให้ นายกรัฐมนตรี 1) พิจารณาคัดเลือกผู้ที่เหมาะสมในการดูแลกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ใหม่อีกครั้ง ในตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แทน นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน และนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ เพราะไม่สามารถดำเนินการตามสัญญาจากนโยบายหาเสียงก่อนเลือกตั้ง ตั้งแต่มาดำรงตำแหน่งไม่มีความจริงใจในการช่วยแก้ปัญหาให้เกษตรกร มีแต่ซ้ำเติมเกษตรกรด้วยการเพิ่มต้นทุนการผลิตและสร้างผลกระทบให้แก่เกษตรกรมากกว่าเดิม โดยหวังว่าจะได้รับการพิจารณาในวาระที่จะมีการปรับคณะรัฐมนตรีใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้”

ในวันเดียวกัน กลุ่มเกษตรกรและผู้บริโภคกว่า 30 ราย ก็ได้เดินทางไปพบ นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อเรียกร้องให้มูลนิธิฯ ผลักดันให้เกิดความปลอดภัยด้านอาหารต่อผู้บริโภค โดย 2) ขอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข ผนึกกำลังในการ แบนสารไกลโฟเซต สารกลูโฟซิเนต สารชีวภัณฑ์กำจัดวัชพืช และสารเคมีเกษตรทุกชนิดในทันที เพื่อปกป้องคุ้มครองสุขภาพของประชาชน 3) ขอให้กระทรวงอุตสาหกรรม  กำหนดให้สารไกลโฟเซต กลูโฟซิเนต และสารชีวภัณฑ์กำจัดวัชพืชเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 โดยเร่งด่วน 4) ขอให้กระทรวงสาธารณสุข หยุดการนำเข้าสินค้าและวัตถุดิบทางการเกษตรที่มีการใช้สารพาราควอตและสารคลอร์ไพรีฟอสทันทีต้องไม่มีการผ่อนปรนถึงเดือนมิถุนายน 2564 (ปีหน้า) 5) ขอให้กระทรวงสาธารณสุข ทำการสอบสวนคณะกรรมการอาหารและยา ที่ละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็นโดยการผ่อนปรนให้กลุ่มผู้นำเข้าเป็นการชั่วคราว หรือการละเลยความรับผิดชอบในการตรวจคุณภาพสินค้าเกษตรที่นำเข้าจากต่างประเทศ เอื้ออประโยชน์ให้กลุ่มทุนธุรกิจ โดยไม่คำนึงถึงสุขภาพของผู้บริโภคคนไทย 

นอกจากนี้ ได้เดินทางไปยังสำนักงานพรรคภูมิใจไทย ถนนพหลโยธิน เพื่อทวงถามสัญญาจากนโยบายหาเสียงของพรรคภูมิใจไทย “ทวงคืนกำไรให้เกษตรกร” แต่เมื่อได้รับเลือกตั้งมาแล้ว ไม่สามารถดำเนินการได้ตามที่กล่าวอ้าง จึงเรียกร้องให้รีบทำตามคำสัญญา โดยเฉพาะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงฯ หากทำไม่ได้ขอให้ลาออกจากตำแหน่ง เพื่อแสดงความรับผิดชอบทันที

“ในนามตัวแทนเกษตรกรและผู้บริโภค จึงขอนำเสนอแนวทางดังกล่าวให้นายกรัฐมนตรี มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พรรคภูมิใจไทย และพรรคประชาธิปัตย์ พิจารณาดำเนินการอย่างเร่งด่วน โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะดำเนินการด้วยความเที่ยงธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ “สองมาตรฐาน” ไม่เอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มนายทุน หยุดเล่นเกมการเมือง และเป็นที่พึ่งของประชาชนไทยอย่างแท้จริง” นายสุกรรณ์ กล่าวสรุป

Message us