กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ(มกอช.) ร่วมมือกับภาคเอกชน สมาคมการค้านวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย สมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร และสมาคมอารักขาพืชไทย พร้อมด้วยกลุ่มเกษตรกรพืชสวนและพืชไร่ทั่วประเทศ เดินหน้าโครงการ “เกษตร 5G (KASET5G)” หรือ 5 good คือ เกษตรดี 5 ด้าน โดยจะมุ่งเน้นให้ความรู้กับผู้เกี่ยวข้องในห่วงโซ่อาหาร โดยเฉพาะกลุ่มต้นน้ำ หรือ กลุ่มเกษตรกร พร้อมพัฒนาศักยภาพและคุณภาพภาคการเกษตรไทย
กลุ่มเกษตรพืชสวนและพืชไร่ทั่วประเทศ ที่ร่วมโครงการและพัฒนาเครือข่ายเกษตรคุณภาพ ได้แก่ สมาคมเกษตรกรรุ่นใหม่จังหวัดเชียงใหม่ วิสาหกิจชุมชนมังคุดแปลงใหญ่คิชฌกูฎ จังหวัดจันทบุรี (KMK) ศูนย์ทุเรียนลุงแกละ สวนสมโภชน์เกาะช้าง Wild Calling ฟาร์มปาร์ค สวนอินทผาลัมคุณไข่ สวนเพชรรุ่งเรือง สวนรวมทองกลุ่มแปลงใหญ่มะม่วงน้ำดอกไม้สีทองบ้านวังน้ำบอก จังหวัดพิษณุโลก สวนลุงเบิร์ด ไร่วิยะศรีเมล่อนคาเฟ่ และ ลาวาน้ำกล้วยหอมพร้อมดื่ม
นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า เกษตรกรไทยเตรียมเข้าสู่ยุค Next Normal นั่นคือ เกษตรกรต้องพึ่งพาตนเอง เนื่องจากโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทั้งในด้านเทคโนโลยีและความต้องการของผู้บริโภค ประเด็นความมั่นคงทางอาหารกลายเป็นเรื่องใหญ่ ใครมี “อาหารที่ดี” จะกลายเป็นผู้มีอำนาจในการต่อรองมากที่สุด การนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้กลายเป็นสิ่งจำเป็น ขณะเดียวกัน “อาหารปลอดภัย” เป็นเทรนด์โลก ผู้บริโภคปัจจุบันใส่ใจด้านสุขภาพมากยิ่งขึ้น ดังนั้น ภาคเกษตรกร จะต้องปรับตนเองให้สามารถผลิต “แหล่งอาหาร” ที่ตอบโจทย์ความต้องการทั้งในด้านคุณภาพ มาตรฐาน และปริมาณการผลิตที่เหมาะสม
เป้าหมายสำคัญของ เกษตร 5G คือ ยกระดับสินค้าและคุณภาพของผลิตผลทางการเกษตรอย่างยั่งยืน ขับเคลื่อนการดำเนินงานโดยกลุ่มเกษตรกรเป็นหลัก ถ่ายทอดความรู้และสร้างทักษะผ่านการสนับสนุนของภาครัฐและเอกชนใน 5 ด้านสำคัญ ได้แก่ การเกษตรดี (Good Agriculture) ผลผลิตดี (Good Produce) ชีวิตดี (Good Life) สุขภาพดี (Good Health) และสิ่งแวดล้อมดี (Good Environment)
การเตรียมความพร้อมเกษตรกรสู่ยุค 5G อาหารที่มีคุณภาพ นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กล่าวว่า นโยบายด้านการเกษตรของไทยใช้ “ตลาดนำการผลิต” นั่นคือ ผลิตอย่างไรให้ได้สินค้าเกษตรและอาหารที่ตรงตามความต้องการของตลาด อันประกอบด้วย 3 ประการ ได้แก่ สินค้าเกษตรปลอดภัยเป็นไปตามมาตรฐาน สินค้าเกษตรมีความมั่นคงทั้งในด้านคุณภาพและปริมาณ ส่วนสุดท้าย สินค้าเกษตรมีความยั่งยืนและสมดุลกันทั้งระบบจากผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย และผู้บริโภค โดย มกอช. ได้สนับสนุนการดำเนินงานของเกษตรกรอย่างเต็มที่ เพื่อให้ได้การรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรทั้งการให้ความรู้ อำนวยความสะดวกในการยื่นขอใบรับรองระบบออนไลน์ ส่งเสริมระบบการตลาดออนไลน์และการตรวจสอบย้อนกลับ
ด้าน นางสาวนภาพร รัตนเมตตา ผู้จัดการด้านความปลอดภัยในอาหารจากโครงการระบบอาหาร-เกษตรแบบยั่งยืนแห่งอาเซียน (Global G.A.P) อธิบายถึงมาตรฐานการผลิตทางการเกษตรที่ดีและปลอดภัย หรือ GAP (Good Agricultural Practice) ไว้ว่า ในกระบวนการเพาะปลูกหรือการผลิตอาหารของเกษตรกรจะต้องมีความปลอดภัย การผลิตแบบ G.A.P. สามารถใช้ปัจจัยการผลิตทางการเกษตรได้ ไม่ว่าจะเป็น ปุ๋ย สารเคมีกำจัดศัตรูพืช แต่จะต้องใช้อย่างถูกต้อง เป็นไปตามคำแนะนำและมาตรฐานที่ได้กำหนดไว้ เพื่อไม่ให้มีการตกค้างเกินมาตรฐาน หากเกษตรกรสามารถปฎิบัติได้ก็จะเอื้อประโยชน์ต่อการจัดจำหน่ายภายในประเทศหรือส่งออกไปยังต่างประเทศ
หัวใจสำคัญของการอยู่รอดในยุค Next Normal ของเกษตรกรไทย ดร. เปรม ณ สงขลา ผู้ประกอบการสวนมะพร้าวน้ำหอม กล่าวว่า การรวมกลุ่มของเกษตรกรอย่างเป็นระบบ อาทิ สหกรณ์เกษตรกร จะช่วยให้เกษตรกรสามารถผลิตสินค้าเกษตรได้อย่างมีคุณภาพเป็นมาตรฐานเดียวกัน มีต้นทุนการผลิตที่ลดลง มีระบบการตลาดและการบริหารขนส่งสินค้าที่ดีขึ้น รวมทั้ง เกษตรกรต้องติดตามข้อมูลข่าวสาร สถานการณ์และความต้องการสินค้าเกษตรของโลก เช่น ตลาดยุโรปต้องการสินค้าแบบไหน กำลังแบนสินค้าใด เพื่อให้สามารถปรับตัวและการผลิตได้อย่างเหมาะสม
นอกจากนี้ โครงการเกษตร 5G (KASET5G) ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสำคัญในกลุ่มเกษตรกรชาวไร่อ้อย จากเดิมการเผาอ้อย ก่อให้เกิดมลพิษ เปลี่ยนมาตัดใบสด ใช้ใบคลุมดิน เพิ่มความชุ่มชื้นประหยัดการใช้ปุ๋ยและสารเคมีเกษตรลง นายชวการ ช่องชลธาร ไร่ชวการ จังหวัดชลบุรี อธิบายว่า การเผาจะทำให้เกิดมลพิษ จึงพยายามสื่อสารให้ชาวไร่ใกล้เคียง และในหมู่บ้านเปลี่ยนมาตัดใบสดเพื่อส่งโรงงานไฟฟ้า อีกทั้งใบอ้อยยังใช้คลุมดินได้ เป็นปุ๋ยธรรมชาติ ไม่จำเป็นต้องใช้ปุ๋ยเคมีในปริมาณมากเกินไป เพราะปัจจุบันมีราคาแพง ซึ่งการตัดใบสดของอ้อยยังเป็นการสนัลบสนุนนโยบาย BCG เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นด้วยเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
นายพิพัฒนา เต็งเศรษฐศักดิ์ คณะกรรมการวิสาหกิจชุมชนมังคุดแปลงใหญ่คิชฌกูฎ จังหวัดจันทบุรี (KMK) แสดงความคิดเห็นว่า เกษตร 5G (KASET5G) ให้กระบวนการ วิธีการ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างเกษตรกรด้วยกันเอง ทำให้ไม่ต้องไปลองผิดลองถูกเอง แต่เรียนรู้จากประสบการณ์ตรงของเกษตรกรรุ่นพี่ ทำให้สามารถนำไปต่อยอดในการผลิตของตนเองได้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้ง การรวมกันเป็นกลุ่มก้อน ช่วยกันคิดและพัฒนา ทำให้กลุ่มเข้มแข็งยิ่งขึ้น สามารถต่อรองในเรื่องราคาได้ดียิ่งขึ้น เช่นเดียวกับ นางชลธิชา ช่างประดิษฐ์ ประธานกลุ่มแปลงใหญ่มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง บ้านวังน้ำบอก จังหวัดพิษณุโลก กล่าวสนับสนุนว่า การรวมกลุ่มเกษตรกร 5G (KASET5G) ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก ไม่เพียงแต่จะเป็นการให้ความรู้ที่สนุกเป็นกันเอง แต่ยังช่วยให้กลุ่มเกษตรกรสามารถนำไปปรับใช้ ควบคุมการผลิตสินค้าเกษตรได้อย่างมีคุณภาพ และเป็นที่ต้องการของตลาดด้วย
“การรวมกลุ่มของเกษตรกรครั้งนี้ ถือว่ามาถูกทางแล้ว แม็คโครยินดีให้การสนับสนุนเกษตรกรอย่างเต็มที่ ด้วยการพัฒนาจุดแข็งของแต่ละพื้นที่ แล้วค่อย ๆ ยกระดับสินค้าเกษตรของไทยจากความปลอดภัยระดับประเทศไปสู่ระดับสากล โครงการ “เกษตร 5G” (KASET5G) จะเป็นต้นแบบการพัฒนาภาคเกษตรอย่างยั่งยืนได้และสามารถใช้ช่องทางของแม็คโครเปิดตลาดโลก นำสินค้าเกษตรไทยไปจำหน่ายที่ต่างประเทศได้” ดร. จุฑารัตน์ พัฒนาทร ผู้อำนวยการฝ่ายประกันคุณภาพ บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) กล่าวทิ้งท้าย