ร้องมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ผลักดันให้หยุดนำเข้าสินค้าเกษตรจากญี่ปุ่นและประเทศอื่น เหตุใช้พาราควอต และคลอร์ไพรีฟอส และเดินหน้าแบนไกลโฟเซต กลูโฟซิเนต สารชีวภัณฑ์ เพื่อความปลอดภัยผู้บริโภค
เกษตรกรและผู้บริโภค ร้องมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ผลักดันให้กระทรวงสาธารณสุขหยุดนำเข้าสินค้าเกษตรจากกลุ่มประเทศที่ใช้พาราควอตรวม 75ประเทศ โดยเฉพาะ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ พร้อมขอให้เดินเรื่อง แบนไกลโฟเซต กลูโฟซินเนต และสารชีวภัณฑ์กำจัดวัชพืช เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคตามสิทธิอันพึงมีพึงได้ที่ได้รับสิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยและสิทธิในการเลือกบริโภค
นายนิวัตร ปากวิเศษ พร้อมด้วยผู้แทนผู้บริโภคกว่า 10 ราย เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา ห้ามนำเข้า จำหน่ายและครอบครอง พาราควอต ในประเทศไทย นั่นหมายความว่า การนำเข้าสินค้าและวัตถุดิบทางการเกษตรจากต่างประเทศที่มีการใช้สารพาราควอต เช่น ถั่วเหลือง ข้าวสาลี แป้ง องุ่น แอปเปิล กาแฟ และอื่น ๆ ดังนั้น ภาครัฐจะต้องประกาศห้ามการนำเข้าจากประเทศต้นทางด้วย โดยเฉพาะ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอีก 72 ประเทศทั่วโลก แต่กลับมีการประชุมร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่องอาหารที่มีสารพิษตกค้าง ระหว่างรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มนัญญา ไทยเศรษฐ์ ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข พบว่า จะมีการผ่อนปรนการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าเกษตรที่มีการใช้สารพาราควอตและคลอร์ไพริฟอส เช่น ถั่วเหลือง กากถั่วเหลือง และข้าวสาลี จากต่างประเทศ จนถึง 1 มิถุนายน พ.ศ. 2564 (ปีหน้า)
นอกจากนี้ ยังมีการใช้สารพิษอันตรายอีกสองชนิด ได้แก่ ไกลโฟเซตและกลูโฟซิเนต เพื่อกำจัดวัชพืชในกลุ่มพืชมันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมันและไม้ผล จากคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร แต่สารทั้งสองชนิดมีการตกค้างในพืชผล และกลูโฟซิเนตถูกจัดอยู่ในวัตถุอันตรายระดับเดียวกับพาราควอต และถูกแบนไปในยุโรปแล้ว รวมทั้ง สารชีวภัณฑ์กำจัดวัชพืช จากการสุ่มตรวจสอบโดยกรมวิชาการเกษตรเอง ก็พบว่ามีการผสมสารพารา ควอตและไกลโฟเซต จึงไม่มีความปลอดภัยต่อสุขภาพและผลผลิตส่งถึงผู้บริโภค นับเป็นการหลอกลวงผู้บริโภคและเกษตรกรอีกด้วย
ดังนั้น การเดินทางมายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคครั้งนี้ เพื่อขอให้ดำเนินการคุ้มครองผู้บริโภคตามเจตนารมณ์ขององค์กร ไม่เลือกปฏิบัติ เป็นธรรม และคุ้มครองผู้บริโภคตามสิทธิอันพึงมีพึงได้ที่ได้รับสิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยและสิทธิในการเลือกบริโภค เร่งตรวจสอบการทำงานของกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข กรมวิชาการเกษตร และเจ้าหน้าที่ภาครัฐที่เกี่ยวข้อง และดำเนินการดังนี้
- มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคต้องดำเนินการให้กระทรวงสาธารณสุขระงับการนำเข้าสินค้าเกษตรที่มีการใช้สารพาราควอต และสารคลอร์ไพรีฟอสดังกล่าวทันที ไม่มีการผ่อนปรนไปถึงเดือนมิถุนายน 2564 (ปีหน้า)
- มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคต้องดำเนินการฟ้องร้องในฐานะผู้บริโภค หากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็นโดยการผ่อนปรนให้กลุ่มผู้นำเข้าเป็นการชั่วคราว หรือการละเลยความรับผิดชอบในการตรวจคุณภาพสินค้าเกษตรที่นำเข้าจากต่างประเทศ โดยไม่คำนึงถึงสุขภาพของผู้บริโภคคนไทย
- มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภคต้องดำเนินการร่วมกับเครือข่ายและองค์กรต่างๆ ที่มีนโยบายต่อต้านการใช้สารพิษทางการเกษตรในประเทศไทย เรียกร้องให้มีการแบนสารไกลโฟเซต สารกลูโฟซิเนต สารชีวภัณฑ์กำจัดวัชพืช และสารเคมีเกษตรทุกชนิดในทันทีเพื่อปกป้องคุ้มครองสุขภาพของประชาชนตามที่ได้ประกาศนโยบายของตนเองไว้
- มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคต้องดำเนินการให้กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งอยู่ในการกำกับดูแลของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มนัญญา ไทยเศรษฐ์ กำหนดให้สารไกลโฟเซต กลูโฟซิเนต และสารชีวภัณฑ์กำจัดวัชพืชเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 โดยเร่งด่วน
“ในนามตัวแทนผู้บริโภค จึงขอนำเสนอแนวทางดังกล่าวข้างต้นให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคพิจารณาดำเนินการอย่างเร่งด่วน โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจะดำเนินการด้วยความเที่ยงธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ “สองมาตรฐาน” และเป็นที่พึ่งของประชาชนไทยอย่างแท้จริง” นายนิวัตร กล่าวสรุป
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม นายนิวัตร ปากวิเศษ โทร. 087-466-6459