สมาคมเกษตรปลอดภัย พร้อมกลุ่มเกษตรกร หวั่นโดนลอยแพ แบนพาราควอต

สมาคมเกษตรปลอดภัย พร้อมกลุ่มเกษตรกร หวั่นโดนลอยแพ แบนพาราควอต ไร้การช่วยเหลือจากรัฐ วอนศาลปกครองเร่งดำเนินการ

กลุ่มเกษตรกร เดินหน้าร้องศาลปกครอง เร่งพิจารณามาตรการบรรเทาทุกข์ชั่วคราวและเพิกถอนประกาศแบนพาราควอตและคลอร์ไพริฟอส เนื่องจากกรมวิชาการเกษตร ยังไม่มีทางออกที่ชัดเจน ผลักภาระให้เกษตรกร

สมาคมเกษตรปลอดภัย

วันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2563 ณ ศาลปกครอง กรุงเทพฯ – นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ นายกสมาคมเกษตรปลอดภัย พร้อมด้วยเกษตรกรผู้ร้องทุกข์ และตัวแทนครอบครัวเกษตรกร จำนวน 50 ราย ติดตามความคืบหน้าจากศาลปกครอง “จะพิจารณาโดยไม่ชักช้า” หลังครบ 15 วัน ยื่นฟ้อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม คณะกรรมการวัตถุอันตราย และกรมวิชาการเกษตร ต่อคำสั่งยกระดับให้ พาราควอตและคลอร์ไพริฟอส เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม ที่ผ่านมา

นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ นายกสมาคมเกษตรปลอดภัย เปิดเผยว่า “ปัจจุบัน กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจนสำหรับพาราควอตในการจัดหาวิธีหรือสารทดแทนที่มีประสิทธิภาพ วิธีการใช้ และราคาเทียบเท่าได้ ขัดต่อคำสั่งการของนายกรัฐมนตรีและมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่ให้จัดเตรียมก่อนการแบนสารดังกล่าว รวมทั้งข้อเสนอแนะจากกรมวิชาการเกษตรเสนอให้ใช้เป็นสารเคมีอื่น ๆ ซึ่งสารเคมีที่กล่าวมาเกษตรกรรู้อยู่แล้ว แต่ไม่สามารถนำมาทดแทนพาราควอตได้ เพราะวิธีการใช้และคุณสมบัติไม่เหมือนกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ขณะนี้ กำลังเข้าสู่ฤดูกาลเพาะปลูกของเกษตรกรแล้วในหลายพืช ทั้งพืชไร่และพืชผล เช่น อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด รวมทั้งยังมีพืชชนิดอื่นที่ยังคงปลูกต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน มะนาว มีความจำเป็นต้องใช้สารควบคุมวัชพืชพาราควอต”

หากไม่มีการใช้สารพาราควอตกำจัดวัชพืชในจุดวิกฤตของแต่ละชนิดพืช จะทำให้ผลผลิตของพืชต่าง ๆ ลดลง เช่น ผลผลิตอ้อยลดลง 50% มันสำปะหลังลดลง 80% ข้าวโพดลดลง 40% เมื่อผลผลิตลด ก็จะกระทบตั้งแต่เกษตรกร ไปจนถึงอุตสาหกรรมเกษตร การส่งออก การแข่งขันในตลาดโลก รวมทั้ง หากผลผลิตภายในประเทศลดลง เท่ากับว่า ต้องมีการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศมากขึ้น เช่น นำเข้าข้าวโพดจากพม่า นำเข้ามันสำปะหลังจากเขมร เป็นการซ้ำเติมเกษตรกร

ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน ประเทศไทย จะไม่สามารถนำเข้าสินค้าและวัตถุดิบทางการเกษตรจากต่างประเทศที่มีการใช้สารพาราควอตได้ เช่น ถั่วเหลือง ข้าวสาลี แป้ง องุ่น แอปเปิล กาแฟ เพราะประเทศผู้ผลิตล้วนใช้พาราควอตและคลอร์ไพริฟอสในการเพาะปลูก แสดงว่า ภาครัฐจะต้องมีการประกาศห้ามนำเข้าวัตถุดิบเหล่านี้จากประเทศต้นทางใช่หรือไม่? รวมทั้ง กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบในการตรวจคุณภาพสินค้าเกษตรนำเข้าจากต่างประเทศจะต้องรับผิดชอบ ต้องไม่พบสารพาราควอตและคลอร์ไพริฟอสจากสินค้านำเข้า เกษตรกรไทยจะคอยตรวจสอบและจะดำเนินการฟ้องร้องในฐานะผู้บริโภคหากละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่

นอกจากนี้ ล่าสุด เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ได้มีการประชุมร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่อง อาหารที่มีสารพิษตกค้าง ระหว่าง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มนัญญา ไทยเศรษฐ์ กับ กระทรวงสาธารณสุข พบว่า จะมีการผ่อนปรนการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าเกษตรที่มีการใช้สารพาราควอตและคลอร์ไพริฟอส เช่น ถั่วเหลือง กากถั่วเหลือง และข้าวสาลี จากต่างประเทศ จนถึง 1 มิถุนายน พ.ศ. 2564 (ปีหน้า) หลังจากนั้น ให้หาแหล่งวัตถุดิบใหม่ที่ไม่ใช้สารดังกล่าวหรือให้แหล่งผลิตต้นทางยกเลิกใช้สารทั้งสองรายการ แสดงให้เห็นถึง ความไม่เป็นธรรมในการจัดการแก้ไขปัญหา สองมาตรฐาน เปิดให้สินค้าจากต่างประเทศที่ใช้สารมาขายในประเทศได้ ดังนั้น ควรจะต้องผ่อนปรนให้เกษตรกร และอุตสาหกรรมเกษตรในประเทศสามารถใช้ พาราควอตและคลอร์ไพริฟอส ไปจนถึง 1 มิถุนายน พ.ศ. 2564 (ปีหน้า) ได้เช่นกัน

“เกษตรกรผู้ร้องทุกข์ และตัวแทนครอบครัวเกษตรกร จึงอยากให้ศาลปกครองเร่งพิจารณามาตรการบรรเทาทุกข์ชั่วคราว และเพิกถอนประกาศแบนพาราควอตและคลอร์ไพริฟอส เพราะเกษตรกรประสบปัญหาอย่างหนัก ตั้งแต่ 1 มิถุนายนที่ผ่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การกระทำของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มนัญญา ไทยเศรษฐ์ เดินสายไปจังหวัดต่าง ๆ ไล่จับเกษตรกร ใครมีพาราควอต ติดคุกไม่เกิน  10 ปีหรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท โทษรุนแรงกว่า ค้ายาบ้าและเฮโรอีน ติดคุก 1-10 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 แสนบาท”นายสุกรรณ์ กล่าวสรุป

สมาคมเกษตรปลอดภัย

เลขที่ 18 หมู่ที่ 1 ตำบลหนองราชวัตร อำเภอหนองหญ้าไซ จังหวัดสุพรรณบุรี 72240

เครือข่ายเกษตรกร ประกอบด้วย สมาคมเกษตรปลอดภัย สมาคมชาวสวนปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย สมาคมผู้ประกอบการส่งออกทุเรียนและมังคุดแห่งประเทศไทย สมาคมชาวสวนปาล์มน้ำมันจังหวัดชุมพร ชมรมผู้ปลูกมะนาวแห่งประเทศไทย ศูนย์ประสานงานโรงงานน้ำตาลลุ่มน้ำแม่กลอง กลุ่มเกษตรกรผู้รวบรวมข้าวโพดหวาน สมาคมส่งเสริมธุรกิจพืชอาหารสัตว์ สมาคมชาวไร่มันสำปะหลังแห่งประเทศไทย สภาเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย และ กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง นครราชสีมา

Message us