เกษตรกรกลุ่มอ้อย ยางพารา มันสำปะหลัง ร้อง รมต.เกษตร เร่งช่วยเหลือด่วน

เกษตรกรกลุ่มอ้อย ยางพารา มันสำปะหลัง ประสบปัญหาหนัก ราคาตกต่ำต่อเนื่อง ภัยแล้ง ต้นทุนการผลิตพุ่ง แถมซ้ำเติมด้วยมาตรการจำกัดการใช้ 3 สารเคมีกำจัดศัตรูพืช วอนขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน ดำเนินการอย่างจริงจัง หันมาช่วยเหลือเกษตรกร หยุดนโยบายประชานิยม

นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาเครือข่ายยางและสถาบันเกษตรกรยางพาราแห่งประเทศไทย (สยยท.) เปิดเผยว่า ปัญหาของราคายางตกต่ำเกิดขึ้นจากตลาดการซื้อขายยางล่วงหน้าจากประเทศจีน เกิดการบิดเบือนในราคาต้นทุนที่แท้จริง จึงอยากให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จริงจังกับการแก้ไขปัญหาในระยะยาวมากกว่าการจัดการในระยะสั้น ด้วยนโยบายประชานิยม อาทิ การประกันราคายาง แต่อยากให้สานต่อแนวคิดของนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในการส่งเสริมให้แต่ละกระทรวงนำ ยางพารา ไปใช้ในการดำเนินงานต่าง ๆ รวมทั้งนำ พระราชบัญญัติควบคุมยางและพระราชบัญญัติของกระทรวงพาณิชย์ พ.ศ. 2542 เข้ามาบังคับใช้อย่างจริงจัง เพื่อให้สามารถช่วยเหลือเกษตรกร และควบคุมการส่งออกได้อย่างแท้จริง

อ้อย

นอกจากนี้ ภาครัฐ ควรเปลี่ยนแนวคิดใหม่ โดยส่งเสริมให้เกษตรกรพึ่งพาตนเอง ผ่านการอบรมให้ความรู้ สนับสนุนแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ และการนำสินค้าสู่ตลาดราชการ เพื่อให้สินค้าเกษตรเป็นอุตสาหกรรมเพิ่มมูลค่า เช่น การนำยางมาแปรรูป เป็น โต๊ะ เก้าอี้ รองเท้า หรืออื่น ๆ ส่วนมาตรการจำกัดการใช้สารเคมี พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพรีฟอส นั้น รัฐควรแนะนำให้เกษตรกรใช้อย่างถูกต้อง และมีมาตรการตรวจสอบอย่างเข้มข้น ดีกว่าการยกเลิกใช้ เพราะจะส่งผลกระทบต่อระบบเกษตรกรรม เสียหายหลายแสนล้านบาท แล้วใครจะรับผิดชอบ

ด้านเกษตรกรกลุ่มอ้อย กำลังประสบปัญหาเรื่องราคาอ้อยตกต่ำ จากเดิมเฉลี่ยตันละ 1,000 บาท เหลือเพียง 700 บาท ภัยแล้งส่งผลกระทบต่อปริมาณการผลิตที่หายไปกว่าร้อยละ 30 และต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากกระแสข่าวการแบนที่มีมาเป็นระลอก จนมาถึงข้อสรุปจากคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่ให้มีการจำกัดการใช้ 3 สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ นายกสมาคมเกษตรปลอดภัย กล่าวว่า เกษตรกรชาวไร่อ้อย 2 แสนครอบครัว กำลังได้รับผลกระทบอย่างหนัก อยากให้รัฐบาลชุดใหม่ พิจารณาถึงข้อเท็จจริงของสารเคมีดังกล่าว โดยอ้างอิงผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ และรับฟังความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญและผู้มีประสบการณ์ด้านการเกษตรเป็นหลัก รวมทั้ง ปัจจุบันยังไม่มีสารใดมาทดแทนการใช้สารเคมี พาราควอต ได้ในประสิทธิภาพและราคาที่เท่าเทียมกัน

ขณะเดียวกัน นายสมบัติ ศรีจันทร์รัตน์ ประธานกลุ่มเกษตรมันแปลงใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา กล่าวเสริมว่า นโยบายของกระทรวงเกษตรฯ ที่ให้เกษตรกรเข้ารับการอบรมและสอบให้ผ่าน เพื่อที่จะได้รับสิทธิ์ในการซื้อสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชนั้น เป็นเรื่องที่ดี เพราะสามารถเก็บข้อมูลได้ แต่เกษตรกรเสียเวลาในการไปอบรมและเตรียมตัวเข้ารับการสอบ รวมทั้ง เป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณของภาครัฐ ในความเป็นจริง การจัดอบรมเกษตรกรเป็นเรื่องที่ทำมานานแล้ว หลายรายมีความรู้ความเข้าใจเป็นอย่างดีด้วยซ้ำ อย่างไรก็ตาม เมื่อรัฐออกนโยบายมาแล้ว เกษตรกรยินดีทำตามและให้ความร่วมมือ แต่อยากให้เห็นใจและช่วยเหลือเกษตรกรเพิ่มด้วย

ท้ายที่สุด ประเด็นพรรคฝ่ายค้านได้สอบถามความคิดเห็นภาคประชาชนเกี่ยวกับการใช้สารเคมีเกษตร และมองว่าจะแบนสารเคมี โดยเฉพาะสารพาราควอตนั้น กลุ่มเกษตรกรอ้อย ยางพารา และมันสำปะหลังต่างเห็นพ้องว่า หากพรรคฝ่ายค้านเองต้องการทำงานเพื่อปากท้องของประชาชนจริงและให้เกษตรกรลืมตาอ้าปากได้  ต้องลงมาถามความเห็นเกษตรกรจำนวน 12 ล้านคนที่จะได้รับผลกระทบหากมีการห้ามใช้สารพาราควอต เพื่อให้ได้รับข้อมูลรอบด้าน ไม่เช่นนั้นจะเป็นการซ้ำเติมเกษตรกรทันที 

Message us