เกษตรกรราชบุรีกว่า 50 คน รวมตัวประณามเอ็นจีโอให้ข้อมูลเท็จกรณีสารพาราควอตตกค้างในพืชผลเกษตร พร้อมท้าชนหลักฐานทั้ง 2 ฝ่ายยันกัน ประกาศจุดยืนเกษตรกรต้องการใช้“พาราควอต” ในการปลูกพืชผักผลไม้ หากรัฐไม่สามารถหาสารเคมีอื่นที่มีคุณสมบัติเทียบเท่าได้ นัดรวมตัวฟังผลแบน-ไม่แบน วันที่ 23 พฤษภาคมนี้
นายสุชัช สายกสิกร ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 ตำบลดอนไผ่ อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี เปิดเผยในเวทีชาวบ้านกลุ่มเกษตรกรจังหวัดราชบุรี เกี่ยวกับกรณีการถูกโจมตีจากสื่อมวลชน นักวิชาการ และเอ็นจีโอบางกลุ่มว่า สารพาราควอตเป็นอันตราย โดยจังหวัดราชบุรีเป็นหนึ่งในจังหวัดที่ถูกกล่าวหามีสารพาราควอตตกค้างในพืชผักผลไม้ ซึ่งทำให้ผู้บริโภคขาดความเชื่อมั่น และราคาผลผลิตตกต่ำ จึงต้องการนำเสนอความเห็น และประกาศจุดยืนของชาวเกษตรกรจังหวัดราชบุรีให้กับคณะกรรมการที่ดูแลเรื่องวัตถุอันตรายให้ทราบว่า เกษตรกรมีความจำเป็นต้องใช้สารพาราควอต ไกลโฟเซต และคลอไพรีฟอส ในการทำการเกษตรอยู่ เนื่องจากเป็นสารเคมีสำคัญในการเกษตร พร้อมนัดรวมตัวเกษตรกรชาวราชบุรีให้รวมพลังในการแสดงจุดยืนว่า เรามีความต้องการใช้สารทั้ง 3 ตัวนี้ ในวันที่ 23 พฤษภาคมนี้ ที่กระทรวงอุตสาหกรรม
นางสาวอัญชลี ลักษณ์อำนวยพร ประธานกลุ่มคนดำเนินรักถิ่น จังหวัดราชบุรี กล่าวว่า จากการนำเสนอข้อมูลของกลุ่มเอ็นจีโอว่า สารพาราควอตอันตราย หากปนเปื้อนในผักและผลไม้อาจทำให้ถึงแก่ชีวิต หรือเกิดโรคภัยต่าง ๆ รวมทั้งระบุว่า ผักและผลไม้จากจังหวัดราชบุรี มีสารกำจัดวัชพืช พาราควอต ตกค้างอยู่ ทำให้ผู้บริโภคขาดความเชื่อมั่น จนราคาผลผลิตตกต่ำที่สุด ซึ่งขัดแย้งกับข้อมูลจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดราชบุรี ซึ่งผ่านการตรวจสอบแล้วว่ามีความปลอดภัยทางอาหาร เช่นเดียวกับผลการตรวจวิเคราะห์สารพิษจากกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก็มีผลชัดเจนว่า ไม่พบการตกค้างของสารเคมีกำจัดวัชพืช และสารกำจัดศัตรูพืช ที่ถูกสุ่มตรวจทั้งหมด ดังนั้น จึงเห็นว่า สารพาราควอต ไกลโฟเซต และคลอไพรีฟอส ตกเป็นจำเลยของสังคม ข้อมูลที่ถูกกล่าวหาเป็นการถูกบิดเบือนข้อเท็จจริง และให้ร้ายเกษตรกร เพราะต้องการจะนำ สารกลูโฟซิเนต เข้ามาใช้แทน ซึ่งมีราคาสูงกว่าพารา ควอตถึง 5 เท่า และมีประสิทธิภาพไม่เทียบเท่า พร้อมเตรียมหลักฐานการทดสอบผักผลไม้ปราศจากสารปนเปื้อนมายันกับฝ่ายเอ็นจีโอเช่นกัน
ด้านเกษตรกรเจ้าของสวนละมุด จังหวัดราชบุรี นายมงคล สมประเสริฐ กล่าวย้ำว่า สารพาราควอต เป็นยาสามัญประจำบ้านของเกษตรกรที่มีความจำเป็นต้องใช้ และมีความรู้ในการใช้เป็นอย่างดี ตลอดระยะเวลา 60 ปีที่ผ่านมา ยังไม่เคยได้รับผลกระทบในด้านสุขภาพทั้งในเรื่องเนื้อเน่า หรือ พาร์กินสัน สุขภาพยังคงแข็งแรงดี ยินดีให้มาตรวจสุขภาพเพื่อพิสูจน์ ทั้งนี้ การให้ข้อมูลของกลุ่มเอ็นจีโอส่งผลกระทบต่อสินค้าเกษตรและวิถีชีวิตของเกษตรกรอย่างใหญ่หลวง และอยากให้นำผลพิสูจน์มายืนยัน พร้อมระบุแหล่งตรวจสอบว่าเป็นที่ยอมรับหรือไม่ มีมาตรฐานหรือไม่ มิใช่เป็นการกล่าวอ้างลอย เนื่องจากเกษตรกรเคยสอบถามไปแล้ว แต่ไม่สามารถตอบคำถามเหล่านี้ได้
ศาสตราจารย์ ดร. รังสิต สุวรรณมรรคา ผู้เชี่ยวชาญด้านวัชพืช ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวเสริมว่า กรณีของพาราควอต ไม่เหมือนสารอื่น เพราะไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตอื่นในดินหรือน้ำ เมื่อพาราควอตลงสู่ดิน จะถูกดินยึดไว้ ไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม และรากพืชไม่สามารถดูดซึมพาราควอตเข้าไปได้ แต่พาราควอต จะมีผลต่อส่วนที่เป็นสีเขียว ทำให้เกิดการไหม้และตายได้ ดังนั้น การตรวจสารปนเปื้อนพาราควอตในผักหรือผลไม้ จึงเป็นไปไม่ได้เลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผัก เกษตรกรคงไม่ฉีดบนใบผัก เพราะจะทำให้ใบไหม้ ขายไม่ได้ราคา และผักนั้นตายได้ หรือ ผลไม้ก็ไม่มีทางที่จะตรวจพบสารพาราควอต เพราะรากพืชดูดซึมสารไม่ได้ จึงไม่พบสารอย่างแน่นอน
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์อำนวย ถิฐาพันธ์ ที่ปรึกษาคณบดี คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ในฐานะผู้เชียวชาญด้านพิษวิทยา และเชี่ยวชาญด้านการวิจัยสารพาราควอต เปิดเผยว่า มีการศึกษาโครงสร้างของพาราควอต มีการเรียนและสอนนักศึกษาแพทย์มาเป็นเวลา 40 ปี ไม่พบว่าสารพาราควอตทำให้เกิดสารก่อมะเร็ง หรือ เกิดโรคพาร์กินสัน หรือ เกิดโรคเนื้อเน่าแต่อย่างใด ส่วนสาเหตุการเสียชีวิตจากพาราควอตที่เกิดขึ้นนั้น คือ การกินพาราควอตเพื่อฆ่าตัวตายเท่านั้น รวมทั้ง สารพาราควอตไม่มีการตกค้างในพืชของเกษตรกร หากใช้ภายใต้การควบคุมอย่างถูกต้อง