เกษตรกรกว่า 30,000 ราย ลงชื่อค้านเลิก “พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส” ร้อง รองนายกฯ ตรวจสอบการทำงานของกระทรวงสาธารณสุข ตั้งข้อสงสัยการทำงานเอ็นจีโอและนักวิจัย ม.นเรศวร ขีดเส้นตายหาข้อสรุป มีนาคม นี้
สมาพันธ์เกษตรปลอดภัย สมาคมผู้ส่งออกฯ และผู้แทนเกษตรกร ยื่นหนังสือและรายชื่อเกษตรกร 30,000 ราย ร่วม “ค้าน” ยกเลิกการใช้ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ทางการเกษตร ถึง รองนายกรัฐมนตรี พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ พร้อมบทสรุปการประชุมรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั่วประเทศ ย้ำ เกษตรกรส่วนใหญ่ ไม่เห็นด้วย เหตุ ส่งผลต้นทุนการผลิตเพิ่ม ผลผลิตลดลง รายได้ประเทศสูญหาย และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญยืนยันไม่ก่อปัญหาด้านสุขภาพ อีกทั้ง วอนตรวจสอบการทำงานกระทรวงสาธารณสุข ขาดการศึกษารอบด้านและควรทำงานร่วมกับนักวิชาการเกษตร ชี้ประเด็นข้อสงสัยการทำงานเอ็นจีโอกับนักวิจัยผิดปกติ ขีดเส้นตาย ขอคำตอบ มีนาคม นี้
25 มกราคม พ.ศ. 2561 ณ ทำเนียบรัฐบาล – สมาพันธ์เกษตรปลอดภัย สมาคมผู้ส่งออกทุเรียนและมังคุด สมาคมส่งเสริมธุรกิจ พืชและอาหารสัตว์ และผู้แทนเกษตรกรกลุ่มพืชอ้อย ปาล์ม ยางพารา มะนาว ข้าวโพด ข้าวโพดหวาน มันสำปะหลัง ผักและผลไม้ เป็นผู้แทนกลุ่มเกษตรกรที่ไม่เห็นด้วย นำเสนอรายชื่อคัดค้านจำนวนกว่า 30,000 ราย มอบให้ พลเอก ประสาท สุขเกษตร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง พร้อมด้วยสรุปข้อคิดเห็นของเกษตรกร สมาคมเกษตรกร และนักวิชาการ รวมถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจหากยกเลิกใช้สารดังกล่าว
ตามที่กระทรวงสาธารณสุข เสนอให้ยกเลิกใช้สารทั้ง 3 ชนิด และอยู่ระหว่างการพิจารณาของ คณะกรรมการวัตถุอันตราย นั้น นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัยเปิดเผยว่า ได้ดำเนินการชี้แจงข้อเท็จจริงมาอย่างต่อเนื่อง โดยได้จัดส่งหนังสือทบทวนไปยังส่วนงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คณะกรรมการวัตถุอันตราย กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข และได้เข้าพบ รองนายกรัฐมนตรี พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ ซึ่งได้มอบหมายให้ พลเอก ประสาท สุขเกษตร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เป็นผู้รับผิดชอบ โดยได้ข้อสรุปดังนี้ ขอรับเรื่องไว้และจะนำส่งไปให้หน่อยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป ซึ่งข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุขยกเลิกใช้นั้น ยังไม่มีการสรุป การดำเนินงานต่อไปจะให้ครอบคลุมเหมาะสมตามข้อเท็จจริง ในส่วนอำนาจการตัดสินใจอยู่ที่คณะกรรมการวัตถุฯ ซึ่งจะพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคมนี้
“ทั้งนี้ สมาพันธ์เกษตรปลอดภัย ได้ยื่นเรื่อง ขอให้ “ยกเลิก” ข้อเสนอที่ให้ยกเลิกใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช พารา ควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ของเกษตรกร พร้อมชี้แจงผลกระทบต่อการนำเสนอผลวิจัยที่มีข้อมูลบิดเบือน ไม่ถูกต้องบนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์ ทำให้เกิดความตื่นตระหนก เกิดความเข้าใจผิดในสังคมวงกว้าง กระทบต่อราคาสินค้า การส่งออกผักและผลไม้ของเกษตรกรเป็นอย่างมาก กลุ่มเกษตรกร จึงตั้งข้อสงสัยต่อการทำงานระหว่างThai-PAN กับ ผลการวิจัยของ ดร.พวงรัตน์ ขจิตวิชยานุกูล มหาวิทยาลัยนเรศวร ดังนั้น สมาพันธ์ฯ เตรียมพร้อมรวบรวมรายชื่อเกษตรกร 50,000 ราย ค้านผลการวิจัย และขอให้เจ้าของผลงานวิจัยรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยการ “ลาออก” จากสถาบันการศึกษาและความเป็นนักวิชาการ ให้แล้วเสร็จภายในเดือน มีนาคม นี้ เบื้องต้น ดร. กาญจนา เงารังษี อธิบการดี มหาวิทยาลัยนเรศวร รับทราบเรื่องแล้ว“ นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ กล่าวย้ำ
นอกจากนี้ กรมวิชาการเกษตร สมาคมเกษตรกร เกษตรกร และนักวิชาการ ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้ง 4 ภาคทั่วประเทศ พบว่า เกษตรกรที่เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่ “ไม่เห็นด้วย” กับการยกเลิกการใช้สาร พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พาราควอต เนื่องจากส่งผลกระทบต่อ 1) ต้นทุนการผลิตของเกษตรกร 2) ผลผลิตการเกษตรลดลง 3) การสูญเสียรายได้ระดับประเทศ อันเนื่องมาจากผลผลิตที่ลดลง คิดเป็นมูลค่าการสูญเสียสูงถึง 3 แสนล้านบาทต่อปี สำหรับกลุ่มอ้อยและมันสำปะหลัง
“ขณะเดียวกัน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญของศูนย์พิษวิทยาโรงพยาบาลรามาธิบดี ให้ข้อมูลยืนยันว่า การใช้สารกำจัดศัตรูพืชทั้ง 3 ชนิด ไม่พบว่ามีหลักฐานผลกระทบทางสุขภาพตามที่กล่าวอ้าง สอดคล้องกับประสบการณ์ตรงของเกษตรกรที่ใช้สารดังกล่าว มานานกว่า 50 ปี ไร้ผลกระทบต่อสุขภาพ
อยากให้ตรวจสอบการทำงานของกระทรวงสาธารณสุข ควรศึกษาข้อมูลให้รอบด้านทั้งผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เกษตรกร ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง และการดำเนินงานของคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง กระทรวงสาธารณสุข ควรมีนักวิชาการด้านการเกษตร เกษตรกร ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการ เพื่อความเป็นธรรมและโปร่งใสในการพิจารณา
ท้ายที่สุด เกษตรกรสนับสนุนให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เดินหน้าต่อไปบนความถูกต้องและความชอบธรรมภายใต้การกำกับดูแลสารเคมีเกษตร ซึ่งกระทรวงอื่นจะมาก้าวก่ายไม่ได้ ทุกกระทรวงมีหน้าที่ของตนเอง ที่สำคัญคือต้องทำงานร่วมกัน เกษตรกรคือประชาชนกลุ่มใหญ่ของประเทศ ดังนั้น อย่ามองแต่มุมของตัวเอง ภาครัฐด้วยกันต้องทำงานประสานกัน” เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย กล่าวสรุป