จุฬาฯ ชวนอวดของ มาลองดีที่สยามสแควร์ วัน

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดฟรีพื้นที่ 1,000 ตารางเมตร ให้นิสิตนักศึกษาทั่วไทยลองเปิดธุรกิจสร้างแบรนด์ของตนเอง ณ สยามสแควร์วัน

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดพื้นที่สาธารณะส่วนกลางและคูหาร้านค้าภายในศูนย์การค้าสยามแสควร์ วัน กว่า 1,000 ตารางเมตร มอบโอกาสให้นิสิตนักศึกษาระดับอุดมศึกษาทุกสถาบันทั่วประเทศ ได้มาทดลองเปิดธุรกิจและสร้างแบรนด์ ส่งเสริมการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์และสร้างรายได้ เพื่อใช้เป็นทุนการศึกษา โดยไม่เสียค่าเช่าพื้นที่ตลอดระยะเวลาโครงการ ภายใต้แนวคิด “จุฬาฯ ชวนอวดของ มาลองดีที่สยามสแควร์วัน”

เมื่อเร็วๆ นี้ นายบุญส่ง ศรีสว่างเนตร ผู้อำนวยการ สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายรัฐการ เห็นสุข ผู้จัดการทั่วไป ศูนย์การค้าสยามสแควร์วัน และผู้แทนร้านค้านิสิตนักศึกษา ร่วมพิธีเปิดโครงการ “จุฬาฯ ชวนอวดของ มาลองดีที่สยามสแควร์ วัน” พร้อมด้วยผลิตภัณฑ์และบริการสร้างสรรค์จากผลงานนิสิตนักศึกษารวมกว่า 600 รายการมาจัดแสดงให้เลือกชมและจัดจำหน่าย ท่ามกลางแขกผู้มีเกียรติมาร่วมงานอย่างคับคั่ง 

จุฬาฯ

นายบุญส่ง ศรีสว่างเนตร ผู้อำนวยการ สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า โครงการ “จุฬาฯ ชวนอวดของ มาลองดีที่สยามสแควร์วัน หรือ CU dare to share at Siam Square One” เป็นโครงการส่งเสริมการเรียนรู้และเปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษาได้ลองทำธุรกิจสร้างแบรนด์ของตนเอง ก่อนออกไปสู่วงการธุรกิจในชีวิตจริง โดยสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับศูนย์การค้าสยามสแควร์วัน ได้จัดสรรพื้นที่สาธารณะส่วนกลาง บริเวณชั้น LG และทางเชื่อมสถานีรถไฟฟ้าสยามมายังศูนย์การค้าสยามสแควร์วัน ประมาณ 700 ตารางเมตร และคูหาร้านค้า บริเวณชั้น LG จำนวน 30 ร้านค้า ประมาณ 300 ตารางเมตร แบบไม่คิดค่าเช่า ให้นิสิตนักศึกษาระดับอุดมศึกษาไม่จำกัดสถาบันมาเปิดร้านแบรนด์สินค้าของตนเองในหลากหลายรูปแบบ ทั้งสิ่งประดิษฐ์ เครื่องประดับ งานออกแบบ งานศิลปะ เสื้อผ้า เครื่องใช้ชีวิตประจำวัน อาหารและเครื่องดื่ม ตลอดระยะเวลาโครงการ ได้แก่ วันที่ 19, 26-28 มิถุนายน 10, 25-26 กรกฎาคม และ 7, 29-30 สิงหาคม

ทั้งนี้ เปิดรับสมัครนิสิตนักศึกษาระดับอุดมศึกษาทั่วประเทศ ส่งผลงานหรือตัวอย่างผลิตภัณฑ์หรือบริการเข้ามาร่วมจัดแสดงและจำหน่ายในพื้นที่สยามสแแควร์วัน พร้อมด้วยหลักฐานการศึกษา โดยไม่เสียค่าเช่าพื้นที่ ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป และการพิจารณาอนุมัติจากสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยถือที่เป็นที่สิ้นสุด

ตัวอย่าง 3 ร้านค้าไอเดียเด็ด แบรนด์นักศึกษา ที่น่าสนใจและเข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ ได้แก่

 

  1. เครื่องประดับแบรนด์ PASU it’s alive

จุดเด่น               แหวนกลไลขยับได้หนึ่งเดียวในโลก เครื่องประดับที่ผสมผสานระหว่างนวัตกรรมกลไกการขยับเพื่อเพิ่มปฏิสัมพันธ์ระหว่างตัวผู้สวมใส่และตัวเครื่องประดับ เป็นการบ่งบอกตัวตนของผู้สวมใส่ มีลูกเล่นที่พร้อมจะสร้างความตื่นเต้นและความแปลกใหม่ให้กับเครื่องประดับในปัจจุบัน สร้างความตื่นเต้นให้กับผู้ที่พบเห็น

แรงบันดาลใจ       ต้องการหลีกหนีสิ่งที่มีอยู่เดิม และต้องการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ให้ผู้คนสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับเครื่องประดับได้ นำไปสู่การเสริมประสบการณ์ร่วมระหว่างผู้สวมใส่เครื่องประดับและตัวเครื่องประดับเอง โดยนำหลักจิตวิทยาว่าด้วยเรื่องของการดึงดูดความสนใจด้วยสิ่งของที่เคลื่อนไหวมาเป็นกลไกลหลัก จึงเกิดสิ่งนี้ขึ้น

ผลงานโดย          นายพสุ เรืองปัญญาโรจน์ คณะศิลปกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

  • สมุดทำมือ BeatBook

จุดเด่น               สมุดทำมือ แต่ละเล่มนั้นจะมีเพียงหนึ่งเดียวในโลก ด้วยเสน่ห์ของการตัดเย็บและลวดลาย กอปรกับการใช้วัสดุหรือวิธีการเย็บลวดลายที่มีการพัฒนาต่อเนื่อง เพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่เสมอ เพราะการเย็บในแต่ละครั้งที่ทำจากมือคนนั้นย่อมแตกต่าง นอกจากนั้น BEATBOOK ยังพัฒนาสิ่งใหม่ๆมาเสมอ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างทั่วถึง โดยการหาไอเดียใหม่ๆที่ทำให้สมุดน่านำไปใช้สอย ทำให้มีความสุขกับการทำงานหรือการจดบันทึก ซึ่งราคาก็ประหยัดและย่อมเยาว์ เป็นราคาที่จับต้องได้ สวยไม่แพ้สมุดจากโรงงาน และยังมีสเน่ห์ของการทำมืออีกด้วย 

แรงบันดาลใจ       ด้วยความที่เป็นคนชอบจดบันทึกเรื่องราวต่างๆ ทั้งการเรียน ส่วนตัว ได้เห็นถึงโอกาสของช่องทางสมุดจดงานที่ยังขาดความสร้างสรรค์อยู่ จึงอยากให้คนได้จด ได้เขียน บันทึกการงานต่างๆ ได้อย่างสนุกและสร้างแรงบันดาลใจมากยิ่งขึ้น 

ผลงานโดย          นางสาวเพ็ญภัค แจ้งพลอย คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

  • ผลิตภัณฑ์เครื่องหนัง Carte Blanche

จุดเด่น               เครื่องหนังที่มีความแตกต่างและตอบสนองต่อการดำรงชีวิตในปัจจุบัน โดดเด่นด้วยรูปลักษณ์แปลกใหม่ และสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ จัดระบบในชีวิต

แรงบันดาลใจ       โดยส่วนตัว เป็นคนชอบใช้เครื่องหนังเป็นอย่างมาก และรู้สึกอยากได้เครื่องหนังที่ตอบโจทย์ของตัวเองมากที่สุด แต่ยังไม่สามารถหาได้จากในตลาด จึงได้พัฒนาผลิตภัณฑ์นี้ขึ้นมา

ผลงานโดย          นายกฤษกร นพรัตนาวงศ์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นอกจากนี้ ยังมีร้านค้าน่าสนใจอีกมากมาย

สำหรับบุคคลทั่วไปที่สนใจร่วมอุดหนุนเลือกชมและซื้อสินค้าบริการในราคาย่อมเยาของโครงการฯ จำนวนกว่า 100 ร้านค้า สินค้าและบริการมากกว่า 600 รายการ ได้อย่างเป็นทางการในวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2558 ตั้งแต่ 11.00-19.00 น. บริเวณลานเชื่อมสถานีรถไฟฟ้าสยามและศูนย์การค้าสยามสแควร์วัน และบริเวณชั้น LG ทั้งนี้ จะมีร้านค้าผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาให้เลือกชมและซื้อตลอดระยะเวลาโครงการ ได้แก่ วันที่ 19, 26-28มิถุนายน 10, 25-26 กรกฎาคม และ 7, 29-30 สิงหาคม

สำหรับนิสิต นักศึกษาที่สนใจเข้าร่วมจำหน่ายสินค้าในโครงการ จุฬาฯ ชวนอวดของ มาลองดีที่สยามสแควร์ วัน หรือบุคคลทั่วไปที่สนใจเข้ามาร่วมงาน สามารถติดต่อได้ที่ สำนักงานสยามสแควร์วัน โทรศัพท์ 091-545-3804 อีเมล์ lawee_aum@hotmail.com เว็บไซต์ : www.siamsquareone.comFacebook Fanpage : www.facebook.com/siamsquareone

Message us