งานประเพณีรับบัว ประจำปี 2555

One Traditional Only of The World Oct 26-29, 2012: Rubbua Traditional 2012

วันเวลา

วันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2555 ถึง 29 ตุลาคม พ.ศ.2555 

ระยะเวลา

4 วัน

เวลาเปิด-ปิด                

วันที่ 26 -27 ตุลาคม 2555 : 09.30 – 24.00 น. 

วันที่ 28 ตุลาคม 2555 : 06.30 – 24.00 น. 

วันที่ 29 ตุลาคม 2555 : 07.00 – 13.00 น.

สถานที่

บริเวณที่ว่าการอำเภอบางพลีและวัดบางพลีใหญ่ใน อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ

ประเพณีรับบัว

ประวัติประเพณีรับบัว

ประเพณีรับบัว เป็นประเพณีเก่าแก่สืบทอดกันมาแต่โบราณของชาวอำเภอบางพลี 

จังหวัดสมุทรปราการ  ในอดีตมีชาวบ้านจำนวนหนึ่ง ตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่ในอำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ โดยแบ่งเป็น ชาวไทย ชาวลาว และชาวรามัญ ซึ่งประกอบสัมมาอาชีพแตกต่างกันออกไป ครั้งหนึ่งได้ร่วมปรึกษาหารือและมีความเห็นพ้องต้องกันว่า จะร่วมมือร่วมใจกันพัฒนาพื้นที่รกร้าง เต็มไปด้วยป่ารกนี้ เพื่อใช้ประโยชน์ในการทำเกษตรกรรม กล่าวคือ ในขณะนั้นพื้นที่ส่วนใหญ่ของลำคลองรายรอบไปด้วย พงอ้อ กอแขม และวัชพืชนานาพันธุ์ อีกทั้งยังมีบรรดาสัตว์อันตรายในละแวกใกล้เคียง ส่วนทางด้านทิศใต้นั้นมีป่าแสมล้อมรอบ น้ำมีสภาพเป็นน้ำเค็ม และส่วนทางทิศเหนือประกอบด้วยบึงใหญ่ที่มีบัวหลวงงอกงามหนาแน่นอยู่ทั่วบริเวณ

ชาวไทย ชาวลาว และชาวรามัญ จึงลงแรงร่วมใจ พัฒนาผืนดินบริเวณนั้นอย่างแข็งขันเรื่อยมา จนกระทั่งมาบรรจบกับทางสามแยก คือ ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ทิศเหนือ และทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ประกอบด้วยปากน้ำลำคลอง 3 สาย คือ คลองสลุด คลองชวดลากข้าว และคลองลาดกระบัง ทั้ง 3 ฝ่าย จึงกระทำการตกลงและมีความเห็นว่า จะแยกย้ายกันไปประกอบอาชีพตามลำคลองทั้ง 3 สายนี้ ด้วยประสงค์จะทดลองเพื่อได้รู้ถึงภูมิประเทศทั้งหมดว่า ที่ใด ทิศทางใดจะเหมาะสมสำหรับการประกอบอาชีพ ทั้งด้านการค้าขายและเกษตรกรรมมากกว่ากัน จึงแยกย้ายกันไปดังนี้ ชาวไทยไปตามคลองชวดลากข้าว ชาวลาวไปตามคลองสลุด และสุดท้ายชาวรามัญไปตามคลองลาดกระบัง 

จนกระทั่งระยะเวลา 2-3 ปีถัดมา ชาวรามัญที่แยกไปประกอบอาชีพ ณ คลองลาดกระบัง เริ่มมีรายได้และผลผลิตที่ตกต่ำ เนื่องจากประสบปัญหาจากศัตรูพืช จำพวกนกและหนูชุกชุม เข้ามาทำลายพืชสวนไร่นาบังเกิดความเสียหายเป็นอันมาก จึงตัดสินใจที่จะอพยพโยกย้ายกลับสู่ถิ่นฐานเดิม คือฝั่งบ้านปากกลัด อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ มีกำหนดการเดินทางในช่วงย่ำรุ่ง ของวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 11 พร้อมกับได้ชักชวนกันเก็บดอกบัวหลวงในบึงบริเวณใกล้เคียงเป็นจำนวนมากมาย เพื่อเตรียมไปบูชาพระคาถาพัน ณ จุดหมายปลายทาง พร้อมกับได้บอกความปรารถนาต่อชาวไทยที่สนิทสนมกันเป็นอย่างดีว่า เมื่อถึงวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 11 ในปีต่อๆไปนั้น ขอให้ชาวไทยทั้งหลายช่วยกันรวบรวมเก็บเอาดอกบัวหลวงไปไว้ ณ วัดหลวงพ่อโต (วัดบางพลีใหญ่ใน) พร้อมมอบให้กับพวกตน (ชาวรามัญ) เพื่อนำไปเป็นดอกไม้สำหรับเป็นพุทธบูชาในวันออกพรรษาต่อไป ด้วยน้ำใจไมตรีของชาวไทยที่มีต่อชาวรามัญเสมอมา จึงมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะกระทำตามที่ชาวรามัญได้ร้องขอไว้ หลังจากนั้นชาวรามัญจึงได้พากันกราบนมัสการหลวงพ่อโต อีกทั้งยังอัญเชิญน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์ติดตัวไปด้วยเพื่อความเป็นสิริมงคล แล้วจึงได้ลากลับบ้านปากกลัด เพื่อนำดอกบัวไปบูชาพระคาถาพัน ที่ปากกลัดต่อไป

ในปีต่อมาเมื่อครบกำหนดวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 11 อีกครั้ง ชาวไทยจึงได้ช่วยกันเก็บรวบรวมดอกบัวหลวงมาไว้ ณ วัดหลวงพ่อโต (วัดบางพลีใหญ่ใน) ตามสัญญาที่ได้ให้ไว้กับชาวรามัญ ซึ่งชาวรามัญได้เดินทางมารับดอกบัวหลวงนั้นในเวลา 03.00 – 04.00  นาฬิกา ทุกครั้ง ด้วยการโดยสารเรือขนาดใหญ่หลายสิบลำซึ่งแต่ละลำสามารถบรรจุคนได้ถึง 50 – 60 คน และทุกครั้งที่เดินทางมานั้นชาวรามัญพร้อมใจกันส่งเสียงร้องรำทำเพลงล่องมาตามลำน้ำเพิ่มความครื้นเครงสนุกสนานตลอดเส้นทาง แสดงถึงไมตรีจิตและมิตรภาพที่มอบให้แก่กันเสมอมา พร้อมกันนี้ชาวไทยได้จัดเตรียมสำรับคาวหวานนานาชนิดไว้รับรองอย่างเพียบพร้อม เมื่ออิ่มหนำสำราญกันครบถ้วนแล้ว ชาวรามัญจึงนำดอกบัวหลวงไปบูชาหลวงพ่อโตในวิหารของวัด และอัญเชิญน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์กลับไปยังบ้านเรือนของตน เพื่อความเป็นสิริมงคล และนำดอกบัวหลวงอีกส่วนหนึ่งกลับไปบูชาคาถาพัน ณ วัดของพวกตนเองต่อไป และด้วยเหตุนี้เองจึงเป็นประวัติความเป็นมาของ ประเพณีรับบัว 1 เดียวในโลก ประเพณีอันดีงามที่สืบทอดต่อเนื่องกันมาอย่างช้านาน

พิธีกรรมในประเพณีรับบัว

เมื่อถึงวันขึ้น 13 ค่ำ เดือน 11 ตั้งแต่ตอนเย็นชาวอำเภอเมืองสมุทรปราการ ชาวพระประแดง และชาวต่างถิ่นจะชักชวนพวกพ้องเพื่อนฝูงลงเรือพร้อมด้วยเครื่องดนตรีนานาชนิดเช่น ซอ ปี่ กระจับ โทน รำมะนาโหม่ง กรับ ฉิ่ง ฉาบ เป็นต้น พายกันไปร้องรำทำเพลงกันไปตลอดทาง ตลอดคืน ซึ่งบางพวกจะผ่านมาทางลำน้ำเจ้าพระยา บางพวกจะผ่านมาทางลำคลองอื่นๆเข้าคลองสำโรงและมุ่งหน้ามายังหมู่บ้านบางพลีใหญ่สำหรับชาวบางพลีนั้นจะถือปฏิบัติกันเป็นประเพณีว่าเมื่อถึงวันขึ้น 13 ค่ำ เดือน 11 ก็จะต้องเตรียมหาดอกบัวหลวง สำหรับมอบให้แก่ชาวบ้านที่ต้องการและมิตรต่างถิ่นมาเยือนในโอกาสเช่นนี้ จึงแสดงมิตรจิตออกต้อนรับ จัดหาสุราอาหารมาเลี้ยงดูกันตั้งแต่ตอนค่ำของวันขึ้น 13 ค่ำ เดือน 11 ส่วนพวกที่มารับบัวคนใดรู้จักมักคุ้นกับชาวบางพลีผู้เป็นเจ้าของบ้าน ก็จะพาขึ้นไปเยี่ยมเยือนบ้านนั้นบ้านนี้ และต่างก็สนุกสนานร้องรำทำเพลงและร่วมรับประทานอาหารสุรากันตลอดคืน พอเช้าตรู่ของวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 11 ชาวบ้านต่างก็นำเรือของตนออกไปตามลำคลองสำโรงเพื่อไปขอรับบัวจากชาวบ้านบางพลีทั้งสองฝั่งคลอง การให้และการรับดอกบัวก็จะทำกันอย่างสุภาพ คือส่งและรับกันมือต่อมือ หรือก่อนให้จะยกมือพนมอธิษฐาน เสียก่อนระหว่างชาวบ้านบางพลีกับชาวต่างถิ่นที่สนิทสนมคุ้นเคยกันเป็นพิเศษ บางทีชาวบางพลีก็จะโยนดอกบัวลงไปให้กันโดยไม่มีพิธีรีตอง เหตุที่มีการโยนบัวให้กัน แบบมือต่อมือจึงเลือนไปจนมีการนำไปพูดกันตอนหลังว่า รับบัว โยนบัวการรับดอกบัวของชาวต่างบ้านจากชาวบางพลีจะสิ้นสุดเมื่อเวลาประมาณ 08.00 น. หรือ 09.00 น. และชาวบ้านก็จะพากันกลับ ตอนขากลับจะมีการแข่งเรือกันไปด้วยแต่เป็นการแข่งขันโดยมีเส้นชัย ไม่มีกรรมการตัดสินและไม่มีการแบ่งประเภทหรือชนิดของเรือ ใครพอใจจะแข่งกับใครเมื่อไหร่ที่ใดก็แข่งกันไปหรือจะเปลี่ยนคู่เปลี่ยนคู่แข่งกันไปเรื่อยๆ ตามแต่จะตกลงกัน ดอกบัวที่ชาวต่างถิ่นรับจากชาวบางพลีไปนั้นจะนำไปบูชาในเทศกาลออกพรรษาตามวัดในหมู่บ้านของตน ประเพณีที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ครั้นนานมาชาวต่างถิ่นที่นำเรือมารับดอกบัวจากชาวบางพลีมีปริมาณลดลงเรื่อยๆ เสียงกระจับ ปี่ สีซอ กลองรำมะนา เสียงเพลงเสียงเฮฮาที่เคยเซ็งแซ่ตามลำคลองสำโรงในคืนวันขึ้น 13 ค่ำ เดือน 11 ก็ค่อยๆเงียบหายไป ต่อมาสมัยนายชื้น วรศิริ (เพชรบูรณะ วรศิริ) เป็นนายอำเภอบางพลี ระหว่าง พ.ศ. 2473 -2481 ประเพณีรับบัวมีทีท่าว่าจะเสื่อมสูญไปนั้น ได้กลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง เมื่อได้หารือกับพ่อค้าคหบดีตลอดจนข้าราชการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทางอำเภอบางพลีจึงได้ตกลงกันดำเนินการจัดงานประเพณีรับบัวขึ้นคือ เริ่มงานวันขึ้น 13 ค่ำ เดือน 11 และรุ่งขึ้น 14 ค่ำ เดือน 11 เป็นวันรับบัวอันเป็นครั้งแรกที่ทางราชการเข้ามาเกี่ยวข้องกับประเพณีรับบัวของชาวบางพลี

การจัดงานประเพณีรับบัวของทางราชการอำเภอบางพลี มีการแต่งเรือประกวด เริ่มมีมาเมื่อ พ.ศ. 2480 (แต่ก่อนชาวต่างถิ่นจะตกแต่งเรือมาเพียงเพื่อความสวยงามแต่ไม่มีการประกวด) ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ช่วยกันหาดอกบัวแจกข้าวต้มมัดแก่แขกต่างบ้านและผู้จัดเรือประกวดในวันขึ้น 13 ค่ำ เดือน 11 ประชาชนต่างถิ่นและชาวอำเภอบางพลีจะลงเรือล่องไปตามลำคลองสำโรง ร้องรำทำเพลงกันอย่างสนุกสนานร่วมกัน ชาวบางพลีจะจัดสุราอาหารไว้ต้อนรับแขกต่างบ้าน ชาวต่างถิ่นคนใดรู้จักมักคุ้นกับชาวอำเภอบางพลีคนใดบ้านใดก็จะพากันไปเยี่ยมเยือน สนุกสนานกับชาวบางพลีบ้านนั้นจนรุ่งเช้า วันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 11 ต่างก็จะพากันไปดูการประกวดที่คลองสำโรงหน้าที่ว่าการอำเภอบางพลี 

การจัดงานประเพณีรับบัวมีองค์ประกอบที่สำคัญคือ มีการแห่หลวงพ่อโต ซึ่งแต่เดิมยังมิได้มีการแห่ดังเช่นสมัยนี้ ในราวปี พ.ศ. 2467 นางจั่นกับพวกได้พร้อมใจกันสร้างพระปฐมเจดีย์ขึ้น ในวัดบางพลีใหญ่ใน เมื่อสร้างเสร็จแล้ว ก็จัดให้มีการฉลองโดยแห่องค์พระปฐมเจดีย์นี้ตามลำคลอง แล้วกลับมาห่มองค์พระปฐมเจดีย์กลางคืนก็จัดให้มีมหรสพสมโภช แห่ไปได้ 2-3 ปี ก็หยุดไปด้วยเหตุใดไม่ปรากฏ ซึ่งเชื่อว่าการแห่ผ้าห่อองค์พระปฐมเจดีย์นี้ได้รับแบบอย่างมาจากการแห่ผ้าห่มองค์พระสมุทรเจดีย์ของอำเภอเมืองสมุทรปราการ ต่อมาก็มีการแห่รูปหลวงพ่อโตแทน โดยความเห็นชอบของท่านสมภารกุ่ย และนายฉลวย งามขำ แห่รูปภาพของหลวงพ่อโตมาหลายปี จนกระทั่งปี พ.ศ. 2485 ก็มีการทำหุ่นจำลองหลวงพ่อโต สานด้วยโครงไม้ปิดกระดาษทาสีทอง แล้วนำแห่แทนรูปภาพของหลวงพ่อโต ซึ่งสร้างโดยนายไสว โตเจริญ ตกกลางคืนก็มีงานมหรสพฉลองกันอย่างครึกครื้น  จนถึงสมัยพระครูพิศาลสมณวัตต์เป็นเจ้าอาวาสวัดบางพลีใหญ่ในก็ได้จัดให้ทำการหล่อรูปหลวงพ่อจำลองขึ้น สำหรับแห่ตามลำคลองด้วยอลูมิเนียมใน พ.ศ. 2497 และปัจจุบันแห่โดยรูปหล่อจำลองหลวงพ่อโต (รูปปั้น) โดยจัดเป็นขบวนแห่ไปตามลำคลองสำโรงในวันขึ้น 13 ค่ำ เดือน 11 เป็นการประกาศข่าวงานรับบัวให้ประชาชนทราบและวิธีนี้กลายเป็นประเพณีแห่หลวงพ่อโตก่อนวันงานรับบัว คือ วัน 13 ค่ำ เดือน 11 ตลอดจนถึงปัจจุบัน การแห่หลวงพ่อโตจึงเป็นส่วนหนึ่งของงานประเพณีรับบัวประชาชนที่อยู่สองฝั่งคลองสำโรงที่ขบวนแห่หลวงพ่อโตผ่านจัดประดับธงทิว ตกแต่งบ้านเรือนและตั้งโต๊ะหมู่บูชา พอเช้าวันรุ่งขึ้น 14 ค่ำ เดือน 11 มีการประกวดเรือประเภทต่างๆของตำบลใกล้เคียงและโรงเรียนส่งเข้าประกวด ซึ่งเริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2500 มีการจัดประกวด ปัจจุบันการประกวดเรือมี 3 ประเภทด้วยกัน คือ ประเภทสวยงาม ประเภทความคิด และประเภทขบขันหน้าที่ว่าการอำเภอบางพลี ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่เวลา 06.00 น.และงานจะสิ้นสุดลงเวลา 11.00 น. ของวันเดียวกัน ในบางปีจัดให้มีการประกวดเทพีการแข่งเรือ หรืออย่างอื่นแล้วแต่คณะกรรมการ จัดงานรับบัวแต่ละปีจะพิจารณาเห็นสมควร ส่วนการร้องรำทำเพลงไปตามลำน้ำดูหายๆไปจนปัจจุบันไม่มีแล้ว คงเที่ยวสนุกสนานกันตามบริเวณที่จัดให้มีมหรสพเท่านั้น

ความศักดิ์สิทธิ์ของ หลวงพ่อโต พระคู่เมืองบางพลี

“หลวงพ่อโต” เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย (สะดุ้งมาร) องค์พระเป็นทองสำริดทั้งองค์ หน้าตักกว้าง 3 ศอก 1 คืบ ลืมพระเนตร เป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย ประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถวัดบางพลีใหญ่ใน ได้รับการกล่าวขวัญถึงความศักดิ์สิทธิ์เป็นที่เคารพสักการะของชาวบางพลีและพุทธศาสนิกชนทั่วไป ตามตำนานกว่า 200 ปีมาแล้วเล่ากันมาว่า ได้มีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ 3 องค์ ลอยมาตามลำแม่น้ำเจ้าพระยาโดยเข้าใจว่าปวงชนในกรุงศรีอยุธยาคงอาราธนาท่านลงสู่แม่น้ำ เพื่อหลบหนีข้าศึก ด้วยในสมัยนั้นบ้านเมืองได้เกิดสภาวะสงครามขึ้นกับพม่า พระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ ได้แสดงอภินิหารลอยล่องมาตามลำแม่น้ำ และแสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ให้ผู้คนเห็น จนเป็นที่โจษจันกันทั่ว ต่อมาภายหลังปรากฏว่า พระพุทธรูปองค์หนึ่งไปขึ้นประดิษฐานอยู่ที่ วัดบ้านแหลม จังหวัดสมุทรสงคราม ในเวลาไล่เลี่ยกันพระพุทธรูปอีกองค์หนึ่ง ไปขึ้นประดิษฐานอยู่ที่ วัดโสธร จังหวัดฉะเชิงเทรา ส่วนอีกองค์หนึ่งได้ล่องลอยเรื่อยมาตามลำแม่น้ำเจ้าพระยา จนถึงลำคลองสำโรง ประชาชนได้อาราธนาขึ้นที่ปากคลองสำโรง แต่พระพุทธรูปไม่ยอมขึ้น ในที่นั้น มีผู้มีปัญญาดีคนหนึ่ง ได้ให้ความเห็นว่า คงเป็นเพราะบุญญาอภินิหารของท่าน แม้จะใช้จำนวนผู้คนสักเท่าไรอาราธนาฉุดท่านขึ้นบนฝั่งไม่สำเร็จเป็นแน่ ควรจะเสี่ยงทายต่อแพผูกชะลอกับองค์ท่าน แล้วใช้เรือพายฉุดท่าน ให้ลอยตามลำน้ำสำโรงและอธิษฐานว่า “หากท่านประสงค์จะขึ้นโปรดที่ใดก็ขอจงได้แสดงอภินิหารให้แพที่ลอยมาจงหยุด ณ ที่นั้นเถิด” ครั้นแพลอยมาถึงบริเวณหน้าวัดพลับพลาชัยชนะสงครามหรือวัดบางพลีใหญ่ในแพที่ผูกชะลอองค์ท่านเกิดหยุดนิ่ง พยายามจ้ำและพายกันอย่างเต็มที่เต็มกำลัง หาได้ขยับเขยื้อนไม่ ประชาชนที่มากับเรือและชาวบางพลี จึงได้พร้อมใจกันอาราธนาตั้งจิตอธิษฐานว่า “ถ้าหลวงพ่อจะโปรดคุ้มครองชาวบางพลีให้ได้รับความร่มเย็นเป็นสุขแล้วก็ ขออาราธนาอัญเชิญองค์ท่านให้ขึ้นจากน้ำได้โดยง่ายเถิด” และเป็นที่น่าอัศจรรย์เป็นอย่างมาก เพียงใช้คนไม่มากนัก สามารถอาราธนาท่านขึ้นจากน้ำได้โดยง่าย ทำให้ประชาชนต่างแซ่ซ้องในอภินิหารของท่านเป็นอย่างยิ่ง และได้อาราธนาท่านขึ้นไปประดิษฐานอยู่ในวิหารนั้นเรื่อยมา

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อสืบทอดประเพณีรับบัวให้คงอยู่เป็นประเพณีประจำจังหวัดสมุทรปราการสืบต่อไป        
  2. เพื่อเป็นการทะนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้เจริญงอกงามตามประเพณีไทย
  3. เพื่อเผยแพร่ความรู้และวัฒนธรรมประเพณีดั่งเดิมให้แก่ เยาวชน และประชาชนทั่วไป ซึ่งจะส่งเสริมให้เกิดการทะนุบำรุงและยึดมั่นอยู่ในขนบธรรมเนียมประเพณีไทย
  4. เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และการท่องเที่ยวในจังหวัดสมุทรปราการและจังหวัดในพื้นที่ใกล้เคียง
  5. เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของจังหวัด ทั้งธุรกิจด้านการจัดแสดงและจำหน่ายสินค้าOTOP สินค้าและอาหารคาวหวานประจำท้องถิ่น ธุรกิจการท่องเที่ยว โรงแรม และธุรกิจบริการด้านต่างๆ  

Theme (แนวคิดหลัก)

 “หนึ่งเดียวในโลก แห่งเดียวในประเทศไทย (One Traditional only of the word)          

สืบสานและอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีเก่าแก่จากอดีตสู่ปัจจุบัน ประเพณีรับบัว เป็นประเพณีที่ได้จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพียงแห่งเดียว ณ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ และเป็นประเพณีที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลกด้วยวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์ โดดเด่น ที่ผสมผสานระหว่างขนบธรรมเนียม ประเพณี ศิลปะ และวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีนี้ ได้จัดให้มีการแสดง แสง สี เสียง ตลอดริมสองฝั่งคลองสำโรง จากด้านหน้าที่ว่าการอำเภอบางพลี ไปยัง วัดบางพลีใหญ่ใน บริเวณ 5 จุดแสดง บอกเล่าเรื่องราวและวัฒนธรรม สีสัน ผ่านเทคโนโลยีการนำเสนอทันสมัยในชื่อชุด “สายน้ำ ศรัทธา ประเพณี เชื่อมวิถีชุมชน” 

ตราสัญลักษณ์

ความหมายของตราสัญลักษณ์ดอกบัว

  • วงกลมภายในดอกบัวบ่งบอกถึงการร่วมมือร่วมใจกันเป็นหนึ่งเดียวของประชนในทุกๆอำเภอ ของจังหวัดสมุทรปราการจนเกิดเป็นประเพณีอันยิ่งใหญ่ ที่มีหนึ่งเดียวในโลก
  • ดอกบัว เป็นจุดเริ่มต้นของประเพณีบุญที่งดงามที่เต็มไปด้วยน้ำใจและศรัทธา
  • สายน้ำ บ่งบอกถึงเส้นทางที่สำคัญในอดีต และเปรียบเสมือนทางน้ำใจของคนในชุมชนที่อยู่ด้วยกันอย่างสงบสุขร่มเย็น และเป็นต้นธารสายน้ำประเพณีงานบุญอันงดงาม

9 รายการที่ไม่ควรพลาดชมในประเพณีรับบัว  ได้แก่

พิธีเปิดงานประเพณีรับบัว จุดเริ่มต้นสายฝนแห่งดอกบัวหรือศรัทธาแห่งชาวพุทธ

นายชุมพล ศิลปอาชา รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

เป็นประธานในพิธีเปิดงานรับบัว และโยนบัวดอกแรกในพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ

พิธีเปิดจัดขึ้น วันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2555 เวลาตามราชาแห่งฤกษ์ 10.39 น. 

สถานที่                  ณ ปะรำพิธี วัดบางพลีใหญ่ใน

งานประเพณีรับบัว One Traditional Only of The World : Rubbua Tradition

งานประเพณีรับบัว อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ประจำปี พ.ศ. 2555 ปีนี้มีขึ้นในวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2555 ซึ่งตรงกับวันขึ้น 14 ค่ำเดือน 11 เช่นเดียวกับทุกปี โดยเริ่มเวลาขบวนแห่เรือหลวงพ่อโตมาตามลำน้ำคลองสำโรงตั้งแต่เวลา 07.00 น. เพื่อให้ประชาชนได้กราบไหว้สักการะและโยนบัวตามประเพณีที่สืบต่อกันมายาวนาน

พิธีโยนบัว วันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2555 ตั้งแต่เวลา 07.00 – 09.00 น.

สถานที่                  จุดเริ่มต้น ณ วัดบางพลีใหญ่ใน จุดสิ้นสุด ที่ว่าการอำเภอบางพลี

การแสดงแสง สี เสียง จำนวน 2 ชุดพิเศษ

  • การแสดงแสง สี เสียง ริมสองฝั่งน้ำคลองสำโรง ชื่อชุด “สายน้ำ ศรัทธา ประเพณี เชื่อมวิถีชุมชน” ล่องเรือชมการแสดง 5 ชุด อันน่าตื่นตาตื่นใจ ด้วยเทคนิคการนำเสนอสุดทันสมัย

พบกับการแสดงแสง สี เสียง ผสานงานศิลป์ประดับตามแนวริมคลองสำโรงทั้ง 2 ฝั่ง จำนวน 5 จุด สุดอลังการเปรียบเสมือนการได้ล่องเรือชมละครเวที ท่ามกลางสายน้ำในยามค่ำคืน โดยใช้เทคนิคมัลติมีเดีย 4 มิติสมจริง ทั้งหมอกควัน แสง เสียง ม่านน้ำพุเต้นระบำเปลี่ยนสี เริ่มตั้งแต่ที่ว่าการอำเภอจนถึงวัดบางพลีใหญ่ใน โดยสามารถแบ่งการแสดงได้เป็น 5 ชุด ดังนี้

  1. “ปฐมบุณฑริกา” องค์ประกอบแรกของประเพณี คือบัวที่มีมากในอำเภอบางพลี และบัวเป็นจุดเริ่มต้น ประเพณีบุญที่งดงามที่เต็มเปี่ยมด้วยน้ำใจและศรัทธา มีการใช้เทคนิค Interactive ในการจัดแสดงรวมถึงการใช้สื่อผสมทางด้าน Multimedia และProduction Mapping เพื่อให้มีความสมจริงมากที่สุด
  2. “นทียาตรา” องค์ประกอบที่ ๒ ของประเพณี คือการบอกกล่าวเล่าขานประวัติศาสตร์เส้นทางแห่งสายน้ำคลองสำโรง ที่เป็นเส้นทางที่สำคัญในอดีต และเส้นทางน้ำใจของคนในชุมชน จุดเริ่มต้นของประเพณีบุญอันงดงาม ใช้เทคนิคโชว์สายน้ำเริงระบำ ด้วยน้ำพุ , ม่านน้ำ และ Lighting ในการจัดแสดงแสง สี เสียง
  3. “ประชาสมานกิจ” องค์ประกอบที่ ๓ ของประเพณี คือการร่วมมือร่วมใจกันเป็นหนึ่งเดียวของประชาชนในอำเภอบางพลีกับประชาชนจากทุกอำเภอในจังหวัดสมุทรปราการ จนเกิดเป็นประเพณีที่ยิ่งใหญ่ของไทย โชว์การแสดงสาธิตวิถีของประชาชน 3 เผ่าพันธุ์คือ ชาวไทย ชาวลาวและชาวรามัญ รุ่นแรกซึ่งเป็นต้นกำเนิดของตำนานพิธีรับบัว ประกอบภาพจากProjector Mapping , แสง , สี , เสียง น้ำพุรูปดอกบัว 4 มิติ
  4. “วิจิตรนาวา” องค์ประกอบที่ ๔ ของประเพณี คือเรือประดิษฐานหลวงพ่อโตที่ประดับตกแต่งสวยงาม ล่องตามคลองสำโรงเพื่อรับบัวจากประชาชน รวมถึงเรือสวยงามอื่นๆ ที่ร่วมขบวนแห่ในประเพณีรับบัว จัดแสดงโชว์แสง , สี , เสียง  เพื่อให้เห็นถึงความงดงามวิจิตรตระการตา โดดเด่นสง่าตามลำน้ำ
  5. “พุทธปฏิมาประดิษฐาน” องค์ประกอบที่ ๕ ของประเพณี คือวัดบางพลีใหญ่ใน จุดหมายปลายทางที่ประดิษฐานองค์หลวงพ่อโตศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่เคารพของชาวบางพลีและชาวจังหวัดสมุทรปราการ  จัดแสดงแสง สี เสียง ประกอบการโชว์กระทงดอกบัวยักษ์ชูช่อที่มีองค์หลวงพ่อโตประดิษฐานอยู่บนยอดบัว แสดงถึงสัญลักษณ์แห่ง การเป็นจุดเริ่มต้นของประเพณีบุญที่งดงามที่เต็มไปด้วยน้ำใจและศรัทธา

อาจกล่าวสรุปโดยร่วมของการแสดงทั้ง 5 ชุด คือ สื่อถึง ความมีน้ำใจที่ดีต่อกันของคนไทยในท้องถิ่นกับคนมอญที่อาศัยอยู่ในอีกตำบล ครั้นถึงช่วงเวลาออกพรรษาคนมอญจะกลับไปทำบุญที่อำเภอพระประแดง จึงได้ร่วมกันเก็บดอกบัวเพื่อให้คนมอญนำกลับไปถวายพระที่วัดนับแต่นั้นเป็นต้นมา ชาวอำเภอพระประแดงและต่างอำเภอพร้อมใจกันพายเรือมาเก็บดอกบัวที่อำเภอบางพลีและถือเป็นโอกาสอันดีที่ได้นมัสการหลวงพ่อโตต่างพากันร้องรำทำเพลงบนเรือเพื่อสร้างความสนุกสนาน ซึ่งชาวบางพลีก็จะจัดเตรียมต้อนรับเป็นอย่างดี จึงเป็นที่มาของประเพณีรับบัวจนถึงปัจจุบัน

การจัดแสดง    วันที่ 26-29 ตุลาคม พ.ศ. 2555 ตั้งแต่เวลา 09.30-21.30 น. 

โดยจะมีเรือนำชมทั้งหมด 6 รอบ รอบละ 60 คน ค่าบริการฟรี

สถานที่             จุดเริ่มต้น ขึ้นเรือ ณ ที่ว่าการอำเภอบางพลี จุดสิ้นสุด วัดบางพลีใหญ่ใน

  • การแสดงแสง เสียง สื่อผสม ย้อนรอยรับบัวบางพลี ชุด “บุญแห่งรัก บุญแห่งศรัทธา”

การแสดงตำนานการเกิดประเพณีรับบัว ตั้งแต่ครั้งที่ชาวมอญพระประแดงมาทำนาในทุ่งบางพลี เมื่อทำนาไถหว่านเรียบร้อยแล้วชาวมอญส่วนใหญ่จะกลับไปพระประแดง ทิ้งไว้เพียงคนเฝ้านา เฝ้าวัว ควาย พอถึงวันขึ้น 13 ค่ำเดือน 11 ชาวพระประแดงจะพายเรือมารับคนของตนกลับไป ด้วยน้ำใจไมตรีของชาวบางพลี ต่างเตรียมเสบียงอาหารไว้รอพวกมอญที่พายเรือมา แล้วต่างหยิบยื่นหรือโยนข้าวปลาอาหารใส่เรือให้ รวมถึงดอกบัวที่ชาวมอญขอแรงให้ชาวบางพลีช่วยเก็บเพื่อให้ตนไปถวายพระในวันออกพรรษาด้วย จนต่อมามีการแห่งพระหลวงพ่อโตทางน้ำได้มีการโยนบัวเพื่อนมัสการหลวงพ่อโตในเรือ จนกลายเป็นประเพณีสืบมาจนปัจจุบัน

องก์ที่ 1             บุญแห่งรักต่างเชื้อชาติมากมี

องก์ที่ 2             บุญแห่งบุญแห่งน้ำใจไมตรีมีมา

องก์ที่ 3             บุญแห่งศรัทธาหลวงพ่อโต

องก์ที่ 4             บุญแห่งพระบรมโพธิสมภาร

การเดินเรื่องจะผูกเรื่องด้วยความรักระหว่างหนุ่มมอญกับสาวไทย และแสดงถึงน้ำใจไมตรีของชาวบางพลี ตลอดจนความศรัทธาในองค์หลวงพ่อโต ในฉากสุดท้ายเป็นการแสดงถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ไทยและถวายความจงรักภักดี เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 84 พรรษาสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ 60 พรรษาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร

            นำแสดงโดย      คุณจอย รินลณี ศรีเพ็ญ ดารานักแสดง พิธีกรรายการ คุณเก๋ กรรณิการ์ ขันแก้ว รองชนะเลิศ MISS WORLD NEXT TOP MODEL 2012 และนักแสดงสมทบมากมาย

            การจัดแสดง    วันที่ 26-27 ตุลาคม พ.ศ. 2555 ตั้งแต่เวลา 19.00 น. 

วันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2555 ตั้งแต่เวลา 20.30 น.

            สถานที่             บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอบางพลี

ตลาดน้ำโบราณ จำหน่ายสินค้าพื้นบ้านและสินค้าท้องถิ่นยอดนิยม (OTOP)

ตลาดน้ำโบราณบางพลี จำหน่ายสินค้าพื้นบ้านและสินค้าท้องถิ่นยอดนิยม (OTOP) มีขนมพื้นบ้าน อาหารพื้นเมือง ผลไม้และสินค้าประจำจังหวัดที่สร้างรายได้ให้แก่ชาวบางพลี อาทิ ปลาสลิดอันเป็นที่ขึ้นชื่อให้ได้เลือกซื้อกันในราคาย่อมเยา ข้าวต้มมัด ฯลฯ ตลอด 4 วันงาน 

การจัดแสดง          วันที่ 26-29 ตุลาคม พ.ศ. 2555 ตั้งแต่เวลา 09.30 น. เป็นต้นไป

สถานที่                  ที่ว่าการอำเภอบางพลี วัดบางพลีใหญ่ใน และบริเวณสองฝั่งคลองตลอดเส้นทางการจัดงานระหว่างที่ว่าการอำเภอบางพลีและวัดบางพลีใหญ่ใน

ลานวัฒนธรรมชาวบางพลี

การจัดแสดงต่างๆ อันหลากหลาย อาทิ  การประกวดหนุ่มสาวรับบัว, ประกวดร้องเพลงลูกทุ่ง, คอนเสิร์ตจากศิลปินชื่อดัง The Star, การละเล่นต่างๆ ของเด็กๆ, ชกมวยทะเล, การแสดงโขนนักเรียน, การบรรเลงดนตรีไทย, การแสดงหมากรุกคน, การแสดงวิถีชีวิตชาวบางลาว การแสดงโปงลาง ณ บริเวณที่ว่าการอำเภอบางพลี 

การจัดแสดง          วันที่ 26-29 ตุลาคม พ.ศ. 2555 ตั้งแต่เวลา 09.30 น. เป็นต้นไป

สถานที่                  ที่ว่าการอำเภอบางพลี

การแข่งขันเรือมาด ชิงถ้วยพระราชทาน พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสม
สวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ

การแข่งเรือมาด มีเป็นประจำทุกปีในวันก่อนพิธีรับบัวหรือออกพรรษา 1- 2 วัน  เรือมาดเป็นเรือขุดไม่เสริมกราบ หัวเรือแบน กว้าง มีหลายขนาด ขนาดใหญ่ใช้บรรทุกข้าวเปลือก ไม้ฟืน หิน โดยใช้แจวให้เคลื่อนที่ ขนาดเล็กใช้บรรทุกของที่มีน้ำหนักน้อยกว่า ใช้หาปลา ส่วนเรือมาดที่มีรูปร่างเพรียวใช้สำหรับแข่ง นิยมขุดจากไม้ตะเคียนหรือไม้สัก และคงเป็นรูปแบบเรือประจำถิ่นอันเก่าแก่ของภาคกลางประเทศไทย ปัจจุบันยังพบเห็นได้ทั่วไป 

การจัดแสดง          วันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2555 ตั้งแต่เวลา 10.00 น. เป็นต้นไป โดยนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด นายชนมสวัสดิ์ อัศวเหม เป็นประธานในพิธี  ณ วัดบางพลีใหญ่ใน 

สถานที่                  วัดบางพลีใหญ่ใน 

การประกวดเรือประเภทต่างๆ

งานประเพณีรับบัว ที่จัดขึ้นก่อนวันออกพรรษาเป็นประจำทุกปีนั้น เป็นงานประเพณีที่สืบทอดต่อกันมาหลายชั่วอายุคน ซึ่งแต่เดิม การตกแต่งเรือ จะเป็นการตกแต่งเรือเพื่อความสวยงามเท่านั้น จนกระทั่งปี พ.ศ. 2480 จึงเริ่มมีการแต่งเรือประกวดเป็นต้นมา โดยแบ่งการประกวดเป็น 3 ประเภท ได้แก่ คือ ประเภทสวยงาม ประเภทความคิดสร้างสรรค์ และประเภทตลกขบขัน ซึ่งจะมีการตัดสินและมอบรางวัลให้กับเรือที่ชนะการประกวด

การจัดแสดง          วันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2555 ตั้งแต่เวลา 10.30-11.30 น. 

สถานที่                  วัดบางพลีใหญ่ใน 

การแข่งขันมัดข้าวต้มมัดและการแข่งขันกินข้าวต้มมัด

ตามประเพณีดั่งเดิมของชาวไทยพุทธที่สืบทอดต่อกันมา จะทราบกันดีว่าจะมีการทำข้าวต้มมัดกันในช่วงออกพรรษา ในอดีตข้าวต้มมัดมีความสำคัญคือ ใช้เป็นอาหารทานระหว่างเดินทางเพื่อย่นระยะเวลาที่จะต้องเสียไปในการนั่งรับประทานอาหารและที่ขาดไม่ได้เลยคือ นำไปใส่บาตรในวันออกพรรษา ฉะนั้นในงานพิธีรับบัวจึงได้ให้มีการแข่งขันมัดและแข่งกินข้าวต้มมัด อันเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของงานมงคลนี้ การแข่งขันมัดข้าวต้มมัดแข่งกันโดยมีผู้ที่เชี่ยวชาญการมัดข้าวต้มมัดเข้าร่วมการแข่งขัน โดยมีเกณฑ์การตัดสินคือ มัดได้สวย แน่น ไม่แตก และอร่อย ด้านการแข่งขันกินข้าวต้มมัด ใครสามารถกินข้าวต้มมัดได้ในปริมาณเยอะที่สุดในเวลาที่กำหนด ถือว่าเป็นว่าเป็นผู้ชนะ 

การแข่งขันมัดข้าวต้มมัด   วันที่ 27 ตุลาคม  พ.ศ. 2555 ตั้งแต่เวลา 10.00-12.00 น.

สถานที่                              บริเวณลาน ด้านหลังที่ว่าการอำเภอบางพลี

การแข่งขันกินข้าวต้มมัด   วันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2555 ตั้งแต่เวลา 11.00-12.30 น. 

สถานที่                              ลานวัฒนธรรม ที่ว่าการอำเภอบางพลี

การประกวดภาพถ่ายประเพณีรับบัว

การประกวดภาพถ่ายประเพณีรับบัว ในหัวข้อ คุณค่าประเพณี เชื่อมวิถีชุมชน” ชิงเงินรางวัลมูลค่ารวม 50,000 บาท โดยเชิญชวนผู้เข้าร่วมงานประเพณีรับบัว ส่งภาพถ่ายในงานประเพณีรับบัว ประจำปี พ.ศ. 2555 เท่านั้น โดยถ่ายจากกล้อง Digital SLR ความละเอียดไม่ต่ำกว่า 6 ล้านพิกเซล สามารถใช้เทคนิคการถ่ายภาพได้อย่างอิสระ และสามารถปรับสีตกแต่งแก้ไขในด้านเทคนิคได้เพื่อให้มีคุณภาพดีขึ้น แต่ต้องแลดูเป็นธรรมชาติไม่ให้ผิดไปจากความเป็นจริง ทั้งนี้ จะต้องส่งผลงานมาจำนวน 2 ชิ้นได้แก่

  1. อัดขยายเป็นภาพสี ขนาด 14×20 นิ้ว ติดภาพลงบนกระดาษการ์ดแข็ง 210 แกรมขึ้นไป พร้อมกรอกรายละเอียดด้านหลัง ได้แก่ ชื่อผู้ถ่ายภาพ ที่อยู่ โทรศัพท์ E-mail ชื่อไฟล์ ชื่อภาพ 
  2. ส่งเป็นไฟล์ภาพ Digital File Format Tiff ที่มีคุณสมบัติ High Resolution (ไม่ต่ำกว่า 300 dpi) บันทึกลงแผ่น CD พร้อม เขียนชื่อ-นามสกุล ลงบนแผ่น CD

ระยะเวลาการจัดส่งผลงาน ตั้งแต่ 29 ตุลาคม พ.ศ.2555 จนถึง 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 

การติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ประเพณีรับบัว 

สำนักงานการส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น อำเภอบางพลี หรือ 

ที่ว่าการอำเภอบางพลี โทรศัพท์ 0 2337 40590 2337 3489-90

Message us