ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล – วันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2555 นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือในการสร้างหลักประกันสุขภาพแก่ประชาชนไทยของ 3 กองทุนสุขภาพภาครัฐ เพื่อมอบสิทธิด้านการรักษาให้แก่คนไทยทั่วทั้งประเทศ พร้อมด้วยความร่วมมือจาก 5 หน่วยงานภาครัฐ และสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ภายใต้แนวคิด “เจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ทั่วถึงทุกคน” เพียงแค่แสดงบัตรประชาชนในกรณีที่เจ็บป่วยฉุกเฉินมาโรงพยาบาล ก็สามารถเข้ารับการรักษาได้ทันที เริ่ม 1 เมษายนพ.ศ. 2555
นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ประธานในพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือในการสร้างหลักประกันสุขภาพแก่ประชาชนไทย กล่าวว่า “ตามนโยบายรัฐบาลด้านสาธารณสุข ที่ต้องการพัฒนาระบบประกันสุขภาพ เพิ่มประสิทธิภาพของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมทั้งบูรณาการสิทธิของผู้ป่วยที่พึงได้รับจากระบบประกันสุขภาพต่างๆ บูรณาการแผนงานของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ประชาชนได้รับการบริการด้านสาธารณสุขที่มีคุณภาพ สะดวก รวดเร็ว และเป็นธรรม ซึ่งในครั้งนี้ถือเป็นโครงการแรกของความร่วมมือครั้งใหญ่จากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อบูรณาการด้านการใช้สิทธิรักษาในกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินอย่างเท่าเทียมกันใน 3 กองทุนสุขภาพภาครัฐ ได้แก่ 1) กองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ กรมบัญชีกลาง 2) กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และ 3) กองทุนประกันสังคม สำนักงานประกันสังคม ภายใต้แนวคิด “เจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ทั่วถึงทุกคน“
“เจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ทั่วถึงทุกคน” ประกอบด้วยสาระสำคัญ 3 ประการ ได้แก่
เจ็บป่วยฉุกเฉิน หมายถึง ผู้ป่วยที่เป็นโรค ได้รับบาดเจ็บ หรือมีอาการบ่งชี้ว่าจะเป็นอาการที่คุกคามต่อการทำงานของอวัยวะสำคัญ ได้แก่ หัวใจ สมอง ทางเดินหายใจ ต้องดูแลติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะอาจทำให้เสียชีวิตได้ทันที ยกตัวอย่าง เช่น หัวใจหยุดเต้น หอบหืดขั้นรุนแรง มีการเขียวคล้ำของปากและเล็บมือ หมดสติ ไม่รู้สึกตัว สิ่งแปลกปลอมอุดกั้นหลอดลมทั้งหมด อุบัติเหตุรุนแรงบริเวณใบหน้าและลำคอ มีเลือดออกมาก ภาวะช็อกจากการเสียเลือดหรือขาดน้ำอย่างรุนแรง แขน ขา อ่อนแรงพูดไม่ชัด ชักตลอดเวลาหรือชักจนตัวเขียว มีไข้สูงกว่า 40 องศาเซลเซียส ถูกสารพิษ สัตว์มีพิษกัด หรือได้รับยามากเกินขนาด ถูกสุนัขกัดบริเวณใบหน้าและลำคอ เป็นต้น
รักษาทุกที่ หมายถึง สามารถเข้ารับการรักษาได้ทันที ทุกโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนที่ใกล้ที่สุด โดยไม่ถูกถามสิทธิก่อนรักษา ไม่ต้องสำรองเงินจ่ายค่ารักษาพยาบาล ไม่ถูกบ่ายเบี่ยงการรักษา และได้รับการดูแลรักษาจนกว่าอาการจะทุเลาลง
ทั่วถึงทุกคน หมายถึง ผู้ที่มีสิทธิตามรายละเอียดข้างต้น ประกอบด้วย ผู้มีสิทธิของ 3 กองทุน ได้แก่ กลุ่มข้าราชการไทยและครอบครัว (ประมาณ 5 ล้านคน) จากกองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ กรมบัญชีกลาง กลุ่มประชาชนที่มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (30 บาทรักษาทุกโรค) ประมาณ 48 ล้านคน จากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และกลุ่มประชาชนที่มีสิทธิประกันสังคม (ประมาณ 10 ล้านคน) จากกองทุนประกันสังคม สำนักงานประกันสังคม
“ความร่วมมือครั้งนี้เป็นสิ่งที่ 3 กองทุนมีเป้าหมายที่สอดคล้องกัน คือ เมื่อมีผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินที่อาจถึงแก่ชีวิต จะต้องไม่ถูกถามสิทธิ และสามารถรักษาได้ทันทีในทุกพื้นที่ โดยคนไทยทุกคนจะต้องได้รับบริการด้วยมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาความไม่เสมอภาคระหว่าง 3 กองทุนสุขภาพของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการบ่ายเบี่ยงการรักษา การถามสิทธิก่อนรักษา และต้องสำรองจ่ายเงินก่อนการรักษาของผู้ป่วยฉุกเฉิน อันเป็นอุปสรรคสำคัญในการบริหารจัดการที่ผ่านมา”
“ทั้งนี้ ประชาชนที่อยู่นอกเหนือ 3 กองทุนดังกล่าว ได้แก่ ลูกจ้างในรัฐวิสาหกิจ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทางรัฐบาลจะดำเนินการให้ได้รับสิทธิการรักษาโดยเร็วเช่นกัน”
นอกจากนี้ ยังได้มีการลงนามความร่วมมือจากหน่วยบริการภาครัฐทุกสังกัดและทุกระดับ ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงกลาโหม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย และกรุงเทพมหานคร
ตลอดจน การลงนามความร่วมมือจากสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งเป็นการแสดงถึงความร่วมมือร่วมใจและความพร้อมของการให้บริการรักษาการเจ็บป่วยฉุกเฉินแก่คนไทยทุกคน จากโรงพยาบาลของรัฐและโรงพยาบาลของเอกชนทุกแห่ง จึงทำให้มั่นใจได้ว่า คนไทยทุกคนจะได้รับการบริการอย่างเท่าเทียม เสมอภาค และครอบคลุมทุกพื้นที่อย่างแน่นอน” นายกรัฐมนตรีกล่าวสรุป
กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน สามารถโทรศัพท์ขอความช่วยเหลือได้ที่ 1669
นิยามผู้ป่วยฉุกเฉิน
จัดทำเพื่อการสื่อสารประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจง่าย
หมายถึง ผู้ป่วยที่เป็นโรค ได้รับบาดเจ็บ หรือมีอาการบ่งชี้ว่าจะเป็นอาการที่คุกคามต่อการทำงานของอวัยวะสำคัญ ได้แก่ หัวใจ สมอง ทางเดินหายใจ ต้องดูแลติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะอาจทำให้เสียชีวิตได้ทันที
ยกตัวอย่าง เช่น หัวใจหยุดเต้น หอบหืดขั้นรุนแรง มีการเขียวคล้ำของปากและเล็บมือ หมดสติ ไม่รู้สึกตัว สิ่งแปลกปลอมอุดกั้นหลอดลมทั้งหมด อุบัติเหตุรุนแรงบริเวณใบหน้าและลำคอ มีเลือดออกมาก ภาวะช็อกจากการเสียเลือด หรือขาดน้ำอย่างรุนแรง แขน ขา อ่อนแรงพูดไม่ชัด ชักตลอดเวลาหรือชักจนตัวเขียว มีไข้สูงกว่า 40 องศาเซลเซียส ถูกสารพิษ สัตว์มีพิษกัด หรือได้รับยามากเกินขนาด ถูกสุนัขกัดบริเวณใบหน้าและลำคอ เป็นต้น
อาการฉุกเฉินนอกเหนือจากนี้ หากไม่แน่ใจโปรดโทรสายด่วน 1669 เพื่อขอคำปรึกษาและบริการช่วยเหลือต่อไป
ข้อสรุปจากการประชุมกับ รมว.สธ. วันที่ 21 มี.ค. 2555 ห้องรับรองชั้น 5 กท.สธ.