เมื่อเร็วๆนี้ บริษัท เอ็น.ซี.ซี. เอ็กซิบิชั่น ออกาไนเซอร์ จำกัด หรือ นีโอ ได้จัดฟรีอบรมสัมมนาในหัวข้อ เคล็ดลับการจัดงานแสดงสินค้าและกิจกรรมพิเศษ นีโอ 2007 นำทีมโดย คุณลัดดา มงคลชัยวิวัฒน์ กรรมการบริหารและผู้จัดการทั่วไป นีโอ รศ.ดร. เสรี วงษ์มณฑา ดร. ทรงธรรม ปิ่นโต ธนาคารแห่งประเทศไทย คุณพัชรพงศ์ อภิชาตะพงศ์ ที่ปรึกษากระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และ คุณชาญชัย สว่างโสภากุล MICE GURU ณ ห้องประชุม 1 และ 2 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ
คุณลัดดา มงคลชัยวิวัฒน์ กรรมการบริหารและผู้จัดการทั่วไป บริษัท เอ็น.ซี.ซี. เอ็กซิบิชั่น ออกาไนเซอร์ จำกัด หรือ นีโอ ซึ่งเป็นผู้จัดสัมมนาในครั้งนี้ กล่าวถึงเหตุผลของการจัดงานในครั้งนี้ว่า “หนึ่งในนโยบายสำคัญของบริษัทฯ คือกิจกรรม Corporate Social Responsibility ซึ่ง นีโอ มีความมุ่งมั่นที่จะมีส่วนร่วมในการพัฒนาและตอบแทนสังคมในรูปแบบการให้ความรู้ ความเข้าใจด้านธุรกิจการจัดงานแสดงสินค้าและนิทรรศการ โดยนีโอได้จับมือกับกูรูชั้นนำ วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิของไทยที่มีประสบการณ์มาร่วมถ่ายทอดความรู้ในครั้งนี้”
งานอบรมสัมมนาความรู้หลักสูตร เคล็ดลับการจัดงานแสดงสินค้าและกิจกรรมพิเศษ นีโอ 2007 ครั้งนี้ นับเป็นการเผยกลยุทธ์จากผู้ทรงคุณวุฒิมากมาย ไม่ว่าจะเป็น กลยุทธ์การตลาดที่ไม่ควรมองข้ามในทศวรรษหน้าโดย รศ.ดร. เสรี วงษ์มณฑา, จัดงานอย่างไรให้เด่นให้ดังโดย คุณลัดดา มงคลชัยวิวัฒน์ กรรมการบริหารและผู้จัดการทั่วไป นีโอ, มุมมองแนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2551 ภาวะเศรษฐกิจไทยหลังเลือกตั้งจะล้มหรือลุกโดย ดร. ทรงธรรม ปิ่นโต ผู้บริหารส่วนดุลชำระเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย และมุมมองแนวโน้มงานแสดงสินค้าระดับชาติและนานาชาติโดย คุณพัชรพงศ์ อภิชาตะพงศ์ ที่ปรึกษากระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา คุณชาญชัย สว่างโสภากุล MICE GURU และ คุณบุษยา ประกอบทอง ผู้จัดการกลุ่มโครงการ นีโอ
สำหรับการบรรยายในหัวข้อแรก โดย รศ.ดร. เสรี วงษ์มณฑา
กลยุทธ์การตลาดที่ไม่ควรมองข้ามในทศวรรษหน้า
ดร.เสรี ย้ำกลยุทธ์การตลาดทศวรรษหน้า พระเอก คือ การประชาสัมพันธ์ นางเอก คือ การจัดงานอีเว้นท์
องค์กรควรเข้าร่วมงานแสดงสินค้า เพื่อขยายผลการสื่อสาร (Spin Out) และเน้นสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้บริโภค (Consumer Involvement) โดยคำนึงหลักส่วนผสมการตลาด 9P
เมื่อเอ่ยถึง การสื่อสารการตลาดเชิงบูรณาการ หรือ IMC ด้วยประสบการณ์ตลอดระยะเวลา 18 ปีที่ผ่านมา พบว่า หนึ่งในกลยุทธ์การสื่อสารการตลาดที่มีบทบาทสำคัญที่สุดมากกว่าวิธีการใดๆ 2 กลยุทธ์ นั่นคือ 1) งานประชาสัมพันธ์ ซึ่งถือได้ว่าเป็น พระเอก ของการสื่อสารที่ทุกองค์กรควรให้ความสนใจ เพราะไม่เพียงแต่สร้างความน่าเชื่อถือ ยังมีหลากหลายรูปแบบในการนำเสนอที่น่าสนใจ เช่น การสัมภาษณ์พิเศษผู้บริหาร การเป็นวิทยากร การจัดงานแถลงข่าว ฯลฯ และ 2) การจัดงานอีเว้นท์ หรือ การเข้าร่วมงานแสดงสินค้า ซึ่งถือได้ว่าเป็น นางเอกของการสื่อสาร เพราะทุกรายละเอียดของการจัดงานแสดงสินค้า ไม่ว่าจะเป็นงานแสดงสินค้า มหกรรม การจัดประกวด ลักษณะต่างๆ เหล่านี้ เป็นเครื่องมือที่กระตุ้นให้กลุ่มเป้าหมายเข้ามามีส่วนร่วม หรือ Consumer Involvement และด้วยลักษณะการจัดงานนี้ จะช่วยในการขยายผลด้านการสื่อสาร (Spin out) ไปยังสื่อมวลชนแขนงต่างๆ เพราะหากใครไม่เอ่ยถึง กล่าวถึง จะทำให้ตกข่าว และหากยิ่งมีการจัดประกวดด้วยแล้ว ยิ่งทำให้เนื้อหาข่าวมีความน่าสนใจมากขึ้น สื่อมวลชน อาจสนใจทำเป็นสกู๊ปต่อไปได้ ทั้งสองกลยุทธ์นี้มีส่วนสำคัญที่ทำให้การตลาดและการสร้างแบรนด์ประสบความสำเร็จมากกว่ากลยุทธ์การสื่อสารใดๆ ภายใต้งบประมาณที่จำกัด
ดร. เสรี วงษ์มณฑา ประธานกรรมการ บริษัท กู๊ด คอมมิวนิเคชั่น จำกัด เผยเทคนิคการวางแผนจัดงานแสดงสินค้าหรือเข้าร่วมออกร้านแสดงสินค้าว่า
“อันดับแรก จะต้องมีการกำหนดแนวคิด หรือ Concept ให้ชัดเจน เช่น ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ก็ควรกำหนดแนวคิดการจัดงานให้สะท้อนความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ควรใช้วัสดุที่เป็นอันตรายต่อธรรมชาติ เป็นต้น
อันดับสอง ศึกษาความเป็นไปได้ feasibility ความคุ้มค่าของผลที่ได้ ทั้งนี้ การจัดอีเว้นท์ไม่ควรคิดว่าจะมาหากำไรจากงานนี้ เช่น ลงทุนค่าบูธไป 300,000 บาท จะต้องขายของให้ได้มากกว่า 300,000 บาท ในความเป็นจริงแล้ว การจัดอีเว้นท์ถือเป็น PR Budget การที่ขายของได้จะช่วยลดงบประมาณหรือต้นทุนมากกว่า
อันดับสาม การจัดงานครั้งนี้ ต้องมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง ต้องซื้อสื่อโฆษณา ผลิตแผ่นพับ มีกิจกรรม หรือ ดารา พิธีกรหรือไม่ อย่างไร
อันดับสี่ ขั้นตอนการตัดสินใจ หลังจากประเมินได้แล้ว ก็ถึงเวลาที่จะตัดสินใจว่า จะจัด หรือ ไม่จัด จะเข้าร่วมหรือไม่อย่างไร
อันดับห้า เมื่อตัดสินใจได้แล้ว ก็สู่ขั้นตอนวางแผน วิเคราะห์สถานการณ์ว่า ตอนนี้เป็นเช่นไร วัตถุประสงค์ของการจัดงาน จัดเพื่ออะไร ในการกำหนดวัตถุประสงค์อย่าเน้นเรื่อง Sale Objectives ควรเขียนเป็น Communication Objectives เช่น แนะนำผลิตภัณฑ์ใหม่ ประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ หลังจากกำหนดได้แล้ว จึงประเมินยุทธศาสตร์ กำหนดกลยุทธวิธี เช่น จะมีกิจกรรมอะไรประกอบบ้าง มีเวทีแสดง หรือ มีการสาธิตสินค้าหรือไม่ หลังจากการนั้น กำหนดงบประมาณ ประมาณกำลังพล ใช้บุคลากรมากน้อยขนาดไหน ประมาณการณ์ปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น (Anticipate Problem) ควรจะเตรียมการใดรองรับปัญหาต่างๆ เช่น การจราจร ควรจะสำรองที่จอดรถอย่างไร จัดคิวรถเข้าออกอย่างไร เป็นต้น
อันดับหก เมื่อตัดสินใจได้แล้ว จึงเริ่มเตรียมการ ดำเนินการต่างๆ ตามแผน โดยไม่กลับไปย้อนคิด พิจารณาเรื่องเก่า หรือ เดิม ที่ได้ตัดสินไปแล้ว
อันดับเจ็ด สุดท้าย ก็ประเมินผลการดำเนินงานต่างๆ ที่ได้จัดเตรียมและปฏิบัติไปเรียบร้อยแล้ว ว่าผลเป็นอย่างไรบ้าง ตรงตามที่ได้วางแผนไว้หรือไม่”
นอกจากนี้ ส่วนผสมการตลาดสำหรับการจัดงานแสดงสินค้าหรือการเข้าร่วมงานแสดงสินค้า (ออกบูธ) นั้น ดร.เสรี วงษ์มณฑา ขอให้พิจารณาองค์ประกอบ 9 ประการ ได้แก่ 1) Product ได้แก่ แนวคิดงาน สถานที่จัดงาน อาหารเครื่องดื่ม มีความสอดคล้องและตรงตามวัตถุประสงค์การจัดงานหรือไม่ 2) Price เมื่อกลุ่มลูกค้ามาร่วมงานนี้จะได้รับส่วนลด หรือมีอะไรพิเศษ หรือกำหนดวิธีการจ่ายพิเศษอะไรให้บ้าง 3)Placement การที่กลุ่มเป้าหมายจะเข้าร่วมงานครั้งนี้ได้ สามารถศึกษารายละเอียดได้จากที่ไหนบ้าง จากเว็บไซต์ จากการซื้อตั๋วผ่านระบบสำรองที่นั่งจากหน่วยงานต่างๆ หรือกลุ่มลูกค้า สามารถติดตามเรื่องราวต่างๆ ได้อย่างไรบ้าง 4) Power ผู้จัดงาน มี Connection ที่ดีกับหน่วยงานอื่นๆหรือไม่ อย่างไร หากผู้จัดงานมีสายสัมพันธ์ที่ดีก็จะช่วยให้งานโดยรวมออกมาดีขึ้น 5) Promotion ได้มีการโฆษณาประชาสัมพันธ์หรือ ให้พนักงานออกไปเร่ขายสินค้าอย่างไรบ้าง 6) Process การจัดงาน จัดคิว ควบคุมขั้นตอนการดำเนินงานต่างๆ ละเอียดครบถ้วน 7) Partnership มีใครเข้ามามีส่วนร่วมครั้งนี้บ้าง ใครสปอนเซอร์งาน หรือ ร่วมจัดงาน 8) Place ทำเลที่ตั้งความสะดวกการเดินทาง การเข้าถึงสถานที่จัดงาน หลากหลายวิธี เส้นทางหรือไม่ อย่างไร 9) Physical Evidence มีการสร้างแบรนด์ของงานที่ชัดเจนหรือดีเพียงพอหรือไม่ การตกแต่งเป็นอย่างไร เหมาะสมกับแนวคิดของงานหรือไม่ กิจกรรมที่จัดขึ้นภายในงานมีความน่าสนใจหรือดึงดูดใจมากน้อยเพียงใด เป็นต้น
“สิ่งสำคัญประการสุดท้าย นั่นคือ หลักการจัดงานอีเว้นท์ หรือ เมื่อเราไปออกร้านแสดงสินค้า 1) ภาพลักษณ์จะต้องสัมพันธ์กับแนวคิดของสินค้าหรือบริการของเรา 2) บุคลากรที่อยู่ประจำพื้นที่ จะต้องเป็น Brand Ambassador หรือ ฑูตของแบรนด์ได้เป็นอย่างดี และสุดท้าย 3) อย่าปล่อยให้ลูกค้ากลับบ้านมือเปล่า ควรมีแผ่นพับ ซีดี เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์หรือบริการของเราไปด้วย เพราะในบางครั้งลูกค้าจะต้องใช้เวลาในการพิจารณา คิดก่อน แล้วค่อยตัดสินใจซื้อ หากสามารถจัดเตรียมได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ ก็จะทำให้การสื่อสารครั้งนี้ สามารถสัมฤทธิ์ผลได้เป็นอย่างดีในที่สุด” ดร. เสรี กล่าวทิ้งท้าย
สำหรับการบรรยายในหัวข้อที่สอง โดย คุณลัดดา มงคลชัยวิวัฒน์ กรรมการบริหารและผู้จัดการทั่วไป บริษัท เอ็น.ซี.ซี. เอ็กซิบิชั่น ออกาไนเซอร์ จำกัด
จัดงานอย่างไรให้เด่นให้ดัง
ถึงเวลาผู้เข้าร่วมแสดงสินค้าต้องออกโรง ศึกษาตลาด ตอบโจทย์ผู้บริโภค วางแผนจองพื้นที่ และทำตลาดดึงคนเข้าบูธ ลัดดาย้ำทำตามแผน มีคนเข้าชมบูธมากกว่าปกติถึง 300%
ดังที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า งานแสดงสินค้า เป็นหนึ่งในเครื่องมือการตลาดในการที่จะนำพาผู้ซื้อมาพบกับผู้ขาย หรือกลุ่มผู้ที่มีความสนใจจะทำธุรกิจร่วมกัน เพราะไม่เพียงแต่ จะช่วยเพิ่มยอดขายของสินค้า และบริการ ยังเป็นการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ จดจำในแบรนด์ และภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่องค์กรอีกด้วย
คุณลัดดา มงคลชัยวิวัฒน์ กรรมการบริหารและผู้จัดการทั่วไป บริษัท เอ็น.ซี.ซี. เอ็กซิบิชั่น ออกาไนเซอร์ จำกัด กล่าวว่า “ปัจจุบัน ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น และฉลาดที่จะเลือกมากขึ้น การจัดงานหรือร่วมแสดงงานจะประสบความสำเร็จได้ ขึ้นอยู่กับว่า ใครจะสามารถตอบโจทย์ของผู้บริโภคได้มากกว่าและดีกว่ากัน โดยผู้จัดงานหรือร่วมงานจะต้องให้ความสำคัญตั้งแต่เริ่มแรก
ก่อนการจัดงาน นับตั้งแต่
1) การจองพื้นที่
ควรจองพื้นที่ขนาดเท่าไร จากผลการวิจัย ณ ประเทศยุโรป เมื่อจองพื้นที่ 1 ตรม. จะสามารถรองรับลูกค้า 1.5 คน ถ้าคุณจอง 40 ตรม. จะได้ลูกค้าอย่างน้อย 60 คน และจะทำอย่างไรให้ได้คนมา 60 คน จากผลวิจัยพบว่า ส่วนใหญ่ลูกค้าที่มาเยี่ยมชมบูธ ได้รับข้อมูลจากการส่งจดหมายเชิญ และโดยปกติ จดหมายเชิญที่จัดส่งออกไป 100 ฉบับ จะได้รับการตอบรับกลับมาประมาณ 12% เท่านั้น ดังนั้นแต่ละองค์กรจะต้องพิจารณาแล้วว่า ขนาดพื้นที่เท่าใดจึงจะเหมาะสมกับองค์กรของตนเองมากที่สุด
ตำแหน่ง ควรเลือกตำแหน่งใด โดยปกติที่พื้นที่บริเวณทางเข้าหลักจะเป็นตำแหน่งที่ดีที่สุด เนื่องจาก เป็นจุดแรกที่ผู้เข้าชมงานจะเห็น ดังนั้น จึงทำให้ exposure ของบูธนั้นดีที่สุด แต่หากงบประมาณไม่มากพอ การพิจารณาขนาดตำแหน่งรองเช่นบูธหัวมุม ที่เปิด 3 ด้านก็จะช่วยให้คนเห็นมากขึ้น 3 ด้าน หรือ 3 exposure ก็ดีเช่นกัน หรือ บริเวณด้านมุม 2 ด้าน ก็ยังโอเค แต่ถ้างบประมาณน้อยมาก การใช้บูธมาตรฐาน ก็จะทำให้โอกาสคนเห็นน้อยลงเหลือเพียง 1 exposure แต่ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับกลยุทธ์ด้วย บางคนเลือกบูธที่อยู่ด้านหลังสุด แต่ปรับกลยุทธ์โดยการเหมาทั้งแผง และกำหนดแนวคิดบูธที่ชัดเจน ก็จะสามารถสร้างการจดจำและโดดเด่นได้เช่นกัน เพราะบูธด้านหลังสุดหรือท้ายสุด ด้วยพฤติกรรมคนยังไงก็ต้องเดินไปอยู่แล้ว เพื่อให้ทราบว่าสุดทางเดิน หากเลือกเหมาทั้งแผงก็ช่วยให้สร้างการจดจำได้ดีขึ้น
การออกแบบบูธหรือพื้นที่จัดแสดงสินค้า ควรให้ความสำคัญใน 3 ส่วนของเทคนิคการตกแต่งได้แก่ การเลือกใช้โทนสี การใช้เป็นสีเป็นศาสตร์อย่างหนึ่ง สีบ่งบอกถึงอารมณ์ ความรู้สึกได้หลากหลาย สีโทนร้อนก็อย่างหนึ่ง สีโทนเย็นก็อีกอย่างหนึ่ง เช่น ถ้าสินค้าของคุณมีความโดดเด่นอยู่แล้ว หรือ ต้องการให้โดดเด่น สีที่ใช้ควรเป็นฉากหลังควรเป็นสีขาวหรือเทา ซึ่งจะช่วยให้สินค้าเราโดดเด่นขึ้น ไม่ควรใช้สีสดใส เพราะจะทำให้สินค้าเราดูจืดลง การเลือกใช้วัสดุ ไม้ จะให้อารมณ์ที่นุ่มและอบอุ่น ส่วนกระจก วัสดุสะท้อนแสง ให้ความรู้สึกทันสมัย หรูหรา เหมาะสมสำหรับสินค้านวัตกรรม หรือ เครื่องสำอาง ส่วนโครงเหล็กเหมาะกับการก่อสร้างขนาดใหญ่ และสินค้าอุตสาหกรรม การใช้แสงไฟ แสงไฟมีส่วนช่วยให้สินค้าดูน่าสนใจมากขึ้น เป็นธรรมดาแสงสว่างจะช่วยสร้างอารมณ์และแนะนำสินค้าบริการให้ดูน่าสนใจมากขึ้น เช่น สินค้าประเภทเพชรพลอย มักใช้ไฟช่วย หรือ การจัดตู้ไฟกระจก ก็จะทำให้งานดูน่าสนใจยิ่งขึ้น
2) การตลาด จะต้องตอบโจทย์ตนเองก่อนว่า เราจะมาทำอะไร เรามีอะไรใหม่หรือไม่ หรือ เป็นโรงแรม มีห้องอะไรใหม่ ตกแต่งใหม่ หากสินค้าไม่ใหม่ จะต้องมี package ใหม่เกิดขึ้น เมื่อกำหนดวัตถุประสงค์ของการจัดได้แล้ว ถึงเวลาที่จะต้องเริ่มทำตลาด จากผลการวิจัยในยุโรป พบว่า 70% ของลูกค้าที่มาชมงานมาจากการได้รับจดหมายเชิญ รูปแบบการเชิญที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดคือ การเชิญแบบเฉพาะเจาะจง ในเมืองไทย หลายคนยังกังวลว่า หากเราเชิญไปแล้ว คนอื่นจะได้รายชื่อลูกค้าเราไป แต่ในความเป็นจริงนั้น ลูกค้าเองก็รู้จักเลือกว่า สิ่งใดดีและเหมาะสม และลูกค้ารู้จักเราดีอยู่แล้ว รู้จักมากกว่าคู่แข่งรายอื่นจึงไม่มีความจำเป็นต้องกังวล แต่ควรจะกังวลที่ไม่ได้เชิญมากกว่า เพราะหากเราไม่เชิญลูกค้า แต่คู่แข่งได้ส่งจดหมายเชิญลูกค้าของเราด้วย กลับจะทำให้เราเสียโอกาสที่ดีไปในที่สุด
ในการส่งจดหมายเชิญ นอกจากจะเป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างองค์กรกับลูกค้าแล้ว ยังเป็นการรับประกันจำนวนผู้เข้าเยี่ยมชมบูธของเราอีกส่วนหนึ่งด้วย จากผลการวิจัยเช่นเดียวกันพบว่า บูธที่มีคนเยี่ยมชมมาก จะมีโอกาสที่กระตุ้นให้คนอื่นๆเข้าชมบูธมากกว่าบูธที่ไม่มีคนเยี่ยมชมถึง 300% และผู้เข้าชมบูธจะใช้เวลาเฉลี่ยต่อละบูธประมาณ 20-30 นาที
3) การฝึกฝนพนักงาน ควรพิจารณาเลือกผู้มีความรู้ ทั้งชายและหญิงไปเชิญแขก และจะต้องมีการอบรมความรู้เกี่ยวกับสินค้าและบริการก่อนมีงาน
ระหว่างการจัดงาน
4) การจัดกิจกรรมพิเศษ หรือ งาน Get Together Party การเชิญลูกค้ามาร่วมงานสังสรรค์เฉพาะในวันจัดงาน เพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์และเปิดโอกาสในแนะนำสินค้าหรือบริการใหม่ๆ ทั้งนี้ การจัดงานลักษณะนี้ ควรจัดในช่วงวันแรกๆ ของการจัดงาน เพื่อให้ลูกค้าได้มีโอกาสพิจารณาและตัดสินใจ
5) การจัดทำวิจัยผลของการเข้ามาร่วมงานของลูกค้า เพื่อวัดระดับความพึงพอใจในด้านต่างๆ และความต้องการของลูกค้าไม่ว่าจะเป็นเรื่องแนวคิดงาน การแต่งกาย กิจกรรมเกมส์ในบูธ การแสดงดนตรีสด หรืออื่นๆ
หลังการจัดงาน
6) ประเมินผลของงานครั้งนี้ว่าเป็นอย่างไร ยอดขายเป็นอย่างไร อะไรขายได้ดี จะได้วิเคราะห์ได้ถูกว่า เหตุใดที่ทำให้เราขายได้ดี หรือ ขายไม่ได้ อันอาจมาจาก ราคา หรือ การนำเสนอ และสุดท้าย การติดตาม ประสานงาน หรือ การส่งเสริมการตลาดต่อเนื่องไปยังลูกค้า ควรจะมีอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างการจดจำและความสัมพันธ์ต่อไปในระยะยาว”
“ทั้งหมดนี้ เป็นแนวทางในการพิจารณาเพื่อวิเคราะห์ ตัดสินใจ วางแผน และดำเนินการสำหรับการเข้าร่วมแสดงสินค้าหรือนิทรรศการได้เป็นอย่างดีต่อไปในอนาคต” คุณลัดดา สรุป
สำหรับการบรรยายในหัวข้อที่สาม โดย ดร. ทรงธรรม ปิ่นโต ผู้บริหารส่วนดุลชำระเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย
มุมมองแนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2551
ดร. ทรงธรรม ย้ำ ปีหน้าไทยอัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจยังดีอยู่ที่ 4.5-6.0 แม้ไม่หวือหวา อัตราเงินเฟ้อ 1.5-2.8 พร้อมระบุสถาบันการเงินการลงทุนลงความเห็นเหมือนกัน
ภาวะเศรษฐกิจต่างประเทศ โดยใช้ประเทศมหาอำนาจอย่าง สหรัฐอเมริกา เป็นเกณฑ์ พบว่าเศรษฐกิจชะลอตัวลงมากกว่าที่คาด แต่กลุ่มประเทศเอเชียยังคงขยายตัวดี ดังนั้น เศรษฐกิจโลกในปี 2550 คาดว่าจะขยายตัวใกล้เคียงกับข้อสมมติเดิม ประมาณร้อยละ 3.6 ส่วนในปี 2551 คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวลงเล็กน้อย ประมาณร้อยละ 3.5 ขณะเดียวกัน ความเสี่ยงด้านราคาเพิ่มสูงขึ้นจากราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่ยังคงอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง รวมถึงราคาอาหารในบางประเทศ รวมถึงปัญหาSubprime ยังคงจะยืดเยื้อต่อไป เพราะสินเชื่อจำนวนมากจะเข้าสู่ช่วงอัตราดอกเบี้ยลอยตัว ทำให้โอกาสในการผิดนัดชำระหนี้เพิ่มมากขึ้น สำหรับการดำเนินนโยบายการเงินของสหรัฐฯ เริ่มผ่อนคลายมากขึ้น สำหรับประเทศอื่นๆ ส่วนใหญ่จะชะลอความเข้มงวดออกไป แต่บางประเทศที่เศรษฐกิจมีแรงกดดันด้านราคา การดำเนินนโยบายการเงินมีทิศทางที่เข้มงวดขึ้น
นอกจากนี้ ได้มีการศึกษาวิจัย Consensus จากกลุ่มสถาบันการเงิน การลงทุนทั่วโลก พบว่า แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ แม้ว่าเศรษฐกิจ G3 จะชะลอตัวลงแต่ถูกชดเชยด้วยการขยายตัวของเอเชีย และในปี 2551 คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวลงจากปี 2550 เล็กน้อย
สำหรับเศรษฐกิจไทย ดร. ทรงธรรม ปิ่นโต ผู้บริหารส่วนดุลชำระเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย แจ้งว่า “โดยรวมปรับตัวดีขึ้น อุปสงค์ในประเทศทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนน่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วและมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ในขณะที่ภาคการส่งออกที่คาดว่าจะชะลอลงในช่วงครึ่งหลังของปียังคงขยายตัวได้ค่อนข้างดี ภาครัฐมีการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยในไตรมาสที่ 4 ของปีงบประมาณ 2550 มีการเบิกจ่ายที่สูงขึ้นตามนโยบายเร่งรัดการเบิกจ่าย ความเสี่ยงด้านราคายังอยู่ในระดับต่ำ แต่มีมากขึ้นจากราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่ปรับสูงขึ้นประกอบกับมีแนวโน้มที่จะมีการปรับขึ้นค่าโดยสาร ก๊าซหุงต้ม และราคาสินค้าอีกหลายรายการ ปัญหาSubprime ยังไม่ส่งผลกระทบชัดเจนต่อเศรษฐกิจไทยในขณะนี้
ทั้งนี้ อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศไทย พิจารณาจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า ในปี 2550 โดยรวมมีแนวโน้มขยายตัวใกล้เคียงกับข้อสมมุติครั้งก่อน โดยเศรษฐกิจเอเชียที่ยังขยายตัวในเกณฑ์ดีช่วยชดเชยอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และญี่ปุ่นที่มีแนวโน้มชะลอลงมากกว่าที่คาดไว้ อย่างไรก็ตาม ในปี 2551 เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าโดยรวมมีแนวโน้มชะลอลงกว่าที่เคยคาดไว้เล็กน้อย อันจะส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยให้ชะลอตัวลง แต่ยังคงมีการขยายตัวไปอย่างต่อเนื่อง”
“โดยสรุปแล้ว เศรษฐกิจของประเทศไทยในปี 2551 อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะยังคงมีอย่างต่อเนื่อง เพิ่มขึ้น แต่เป็นไปอย่างช้าๆ หรือชะลอตัว ไม่หวือหวา ขณะเดียวกัน อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (ไม่นับส่วนของการบริโภคและน้ำมัน ซึ่งมีการปรับตัวขึ้นลงตามฤดูกาล) จะอยู่ที่ 1.0-2.0 และอัตราเงินเฟ้อทั่วไป จะอยู่ที่ 1.5-2.8 ในส่วนของอัตราการว่างงานต่ำ นอกจากนี้ แม้ราคาน้ำมันจะมีราคาสูงขึ้น แต่เศรษฐกิจของไทยพึ่งพาน้ำมันน้อยลง เนื่องจากไทยมีแหล่งรายได้อื่นมาช่วยสนับสนุน เช่น ผลิตภัณฑ์เกษตร การท่องเที่ยว จึงทำให้ราคาน้ำมันมีผลกระทบไม่มากนัก แต่สิ่งหนึ่งที่น่าจับตามองต่อไปก็คือ กลุ่มประเทศ BRICM อันประกอบด้วย ประเทศบราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และเม็กซิโก กลุ่มเหล่านี้ต่อไป จะมิอิทธิพลต่อเศรษฐกิจโลกมากยิ่งขึ้น” ดร. ทรงธรรม กล่าวทิ้งท้าย
สำหรับการบรรยายในหัวสุดท้าย โดย 1) คุณพัชรพงศ์ อภิชาตะพงศ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการท่องเที่ยว คณะศิลปศาสตร์ ม.หัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ และอดีตรองผู้ว่าการฝ่ายตลาด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย 2) คุณชาญชัย สว่างโสภากุล อดีตนายกสมาคมการแสดงสินค้าไทย
มุมมองแนวโน้มงานแสดงสินค้าระดับชาติและนานาชาติ
MICE ประเทศไทย เติบโตสวนกระแส สถานที่จัดงานล้นหลาม แต่พื้นที่จัดงานก็จองเต็ม MICE GURU เล็งอีกไม่นานมีปริญญาตรีด้าน MICE
คุณพัชรพงศ์ อภิชาตะพงศ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการท่องเที่ยว คณะศิลปศาสตร์ ม.หัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ และอดีตรองผู้ว่าการฝ่ายตลาด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้เล่าให้ฟังถึงภาพรวมอุตสาหกรรม MICE ของไทย ณ ปัจจุบันว่า “ประเทศไทยมีการจัด Exhibition มีเพิ่มขึ้นถึง 50% ของทุกๆปี ทั่วโลก MICE มีมาประมาณ กว่า 100 ปี แต่ประเทศไทยเพิ่งมีมา 10 ปี สมัยก่อนจะจัดในโรงแรมเท่านั้นถ้าไม่มีโรงแรมก็จัดไม่ได้ ในการจัดอุตสาหกรรม MICE โดย 3 ปี หลังที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2547 ในช่วงปลายปีได้เกิดซึนามิ ทำให้ตัวเลขการท่องเที่ยวลดลง ปี 2548 มีเพิ่มขึ้น 20% เป็น 11 ล้าน ปี 2549 เพิ่มขึ้นจาก 11 ล้าน เป็น 13 ล้าน รายได้ที่เข้ามาในประเทศมีประมาณห้าแสนกว่าล้านสามารถสร้างเม็ดเงินได้มากในไทย แต่เงิน 10% มาจาก MICE ทำไมถึงสามารถสร้างเม็ดเงินได้เพราะการจัด Exhibition แต่ละครั้ง สามารถครอบคลุมได้ถึงการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของโรงแรม ที่พัก สถานที่ท่องเที่ยว สามารถช่วยทำให้การท่องเที่ยวดีขึ้นได้
MICE ทั่วโลกมีการจัดอันดับประเทศไทยอยู่ในอันดับ 25 ของโลก ในเอเชีย ไทยอยู่ในอันดับ 6 รองจาก ญี่ปุ่น จีน สิงคโปร์ เกาหลีและฮ่องกง ตัวเลขจาก IP&C เป็นตัวเลขที่ทำให้กับ TCEB คนที่มางาน MICE ส่วนใหญ่จะอยู่ในประเทศประมาณ 4-6 วัน ตลาดหรือสินค้าที่เข้ามาจัดงานแสดงที่เข้ามาในเมืองไทย 55% มากจากเอเชีย นักท่องเที่ยวที่ในปีที่แล้ว 13 ล้านคน 70% เป็นคนเอเชีย 21% เป็นคนยุโรป ที่เหลือ 30% เป็นสหรัฐอเมริกา 7% ออสเตรเลีย 3% นิวซีแลนด์ 3% ตะวันออกกลาง 2% แอฟริกา 1% ฉะนั้นรายได้มีหลักๆ อยู่ที่ 2 ทวีป คือ เอเชียกับยุโรป และไทยมีรายได้มากจากในทวีปเอเชียได้แก่ ประเทศเกาหลีประมาณ 800,000 คน ส่วนใหญ่มาท่องเที่ยว แต่งงาน มาเล่นกีฬา เช่น กอล์ฟทำให้มีรายได้เข้าประเทศไทยมาก
อุตสาหกรรม MICE มีความต้องการบุคลากรที่เข้ามารวมงานในอุตสาหกรรม MICE อีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งในอนาคตข้างหน้าอาจจะไม่เพียงพอ โดยเฉพาะคนที่เรียนทางด้านโรงแรม ตลาดต้องการมาก สังเกตุเห็นได้ว่า คนที่เรียนด้านนี้ จะไม่มีตกงาน เพราะบุคลากรที่ผลิตออกมา สามารถรองรับธุรกิจ MICE ได้ทันที แต่ที่ต้องการเน้น คือพนักงานขาย เพราะเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งจะทำหน้าที่จัดหางานแสดงสินค้าต่างๆ มาจัดตลอดเวลา”
คุณชาญชัย สว่างโสภากุล อดีตนายกสมาคมการแสดงสินค้าไทย ได้เปรียบเทียบอดีตและปัจจุบันของอุตสาหกรรม MICE ทั้งในและต่างประเทศว่า “ในเรื่องของ MICE ในเมืองไทยมีการพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆแต่ส่วนใหญ่จะเป็นองค์กรของเอกชน ใน 10 ปีที่ผ่านมา องค์กรต่างๆในต่างประเทศมีความต้องการดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศ ซึ่งไทยเราล่าหลังกว่าประมาณ 5 ปีโดยริเริ่มขึ้นก็จะทำเป็นขบวนการ เป็นในลักษณะให้เป็นการแนะนำ ส่งเสริม และในที่สุดมีการตั้งเป็นสำนักงานขึ้นมา ถ้าให้เทียบระหว่างอดีตกับปัจจุบัน ปัจจุบันดีขึ้นมาก เนื่องจากว่าในอดีตประเทศไทยไม่มีศูนย์แสดงสินค้า อย่าง ศูนย์สิริกิติ์ถือว่าเป็นหัวใจของนักท่องเที่ยว นักธุรกิจที่เราเรียกว่า MICE ฉะนั้น จึงจำเป็นต้องมีสถานที่ เพราะว่าสถานที่ไม่ใช่แค่เป็นห้องหรือมีหลังคาแต่หมายรวมถึงภาพรวมทั้งหมด หลังจากนั้น ก็ศูนย์ไบเทค อิมแพค หรือแม้แต่กระทั่งปัจจุบัน ห้างสรรพสินค้า ยังต้องมีศูนย์จัดแสดงสินค้า ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจ สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่แค่ธรรมดาอีกต่อไปแล้ว ในเรื่องสถานที่ของประเทศไทย ซึ่งถือว่าเกินพอ ซึ่งถ้านับจำนวนแล้วอิมแพคถือว่าใหญ่เป็นที่ 2 ของภาคพื้นเอเชีย ซึ่งภาพรวมถือว่าพอใช้และที่น่าประหลาดใจพื้นที่การจัดแสดงสินค้าทุกวันนี้พื้นที่ถูกจับจองเต็มเกือบหมดทุกที ซึ่งผลกระทบของทางเศรษฐกิจตัว MICE ถือว่าทำรายได้ให้เยอะเมื่อเทียบกับการท่องเที่ยวโดยทั่วไป
ปัจจุบัน MICE ก้าวหน้าไปอีกระดับหนึ่ง มีการเปิดสอนในระดับมหาวิทยาลัย แต่เป็นหลักสูตรที่เน้นไปทางด้านโรงแรมมากกว่า สาเหตุเพราะว่า โรงแรมมีการต่อตั้งมานาน มีตำราเรื่องการทำงานในโรงแรม ดังนั้นจึงนำตำราดังกล่าวมาใช้ ต่อมาคำว่า MICE เป็นที่นิยมและได้มีการเขียนตำราเป็นหลักสูตรพิเศษนำมาใช้ในปริญญาโทบ้างเล็กน้อย แต่ยังไม่มีในปริญญาตรี แต่ในความเป็นไปได้ใน 4 ปีข้างหน้าน่าจะเกิดขึ้นได้ ถ้าพิจารณาจากสองสิ่งนี้ ความต้องการและความอำนวยความสะดวก ถ้าเรามีพร้อม ประเทศไทยคงไม่แพ้ใคร แต่ในข้อเสียเปรียบขณะนี้คนไทยอ่อนภาษาอังกฤษ แต่คู่แข่งของไทยเช่นฮ่องกง สิงคโปร์ ภาษาอังกฤษค่อนข้างแข็งกว่าไทยทั้งนี้ประเทศไทยจะต้องศึกษาข้อมูลในเรื่องของMICE และภาษาอังกฤษให้แข็ง ถึงจะไปเจรจาธุรกิจหรือศึกษาเพิ่มเติมเรื่องของ MICE ได้
หากจะกล่าวไปแล้ว อุตสาหกรรม MICE ประเทศไทยเพิ่งเริ่มต้น ถือว่าโอกาสยังมีอีกมาก ถ้าเทียบกับต่างประเทศที่มีดำเนินงานมาแล้ว การมองงานจัดแสดงสินค้า เรายังมองว่ามีการจัดแสดงสินค้าโดยมีบูธไปจัดแสดง จริงๆแล้วเป็นเรื่องของการแลกเปลี่ยนระหว่างสิ่งที่คนหนึ่งมีกับสิ่งที่คนหนึ่งขาด ในแนวคิดของการจัดแสดงสินค้าจะต้องประกอบด้วยบุคคลสามฝ่าย ฝ่ายแรก คือ ฝ่ายผู้จัดงาน ฝ่ายที่สอง คือ ฝ่ายผู้มีสินค้า ซึ่งรวมทั้งหมดในส่วนของเทคโนโลยี สินค้าบริการ ฝ่ายที่สาม ฝ่ายผู้ชมหรือผู้ที่มาท่องเที่ยวในงานหรือภาษานักธุรกิจคือผู้ซื้อ ต้องมีทั้งสามฝ่ายมาเจอกัน ถึงจะเรียกว่างานจัดแสดงสินค้าและงานจัดแสดงสินค้านั้นจะดีไม่ดีต้องดูฝ่ายจัดงานว่าเป็นมืออาชีพหรือไม่ ทางฝ่ายผู้แสดงสินค้าจะดูจำนวน ผู้ชมที่มาดูสินค้านั้นเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของผู้จัดงานหรือไม่ ส่วนทางฝ่ายผู้ชมหรือผู้ซื้อจะดูว่ามีของหรือสินค้าบริการใหม่ๆมาแสดงให้ดูหรือไม่ เพราะคนที่มาส่วนใหญ่ต้องการมาดูสิ่งใหม่ๆไม่ต้องการดูสินค้าที่มีอยู่ในท้องตลาดซึ่งทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่สำคัญของการจัดงานแสดงสินค้าหรือ Exhibition” คุณชาญชัย กล่าวสรุป